ปัจจัยลบฉุด “แฟชั่นเสื้อผ้า” สหพัฒน์-ICC เบรกลงทุน

09 มิ.ย. 2566 | 09:59 น.

"แฟชั่นเสื้อผ้า" หลังโควิดฟื้นตัวช้า “ICC-สหพัฒน์” ยันไม่มีแผนลงทุน แตกแบรนด์ใหม่ ตั้งการ์ดรับมือค่าแรง 450 บาท แนะรัฐบาลใหม่พัฒนาเศรษฐกิจ แทนขึ้นค่าแรง

จากข้อมูลของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ประเมินว่าตลาดเครื่องแต่งกายโลกในปี 2566 จะมีการขยายตัวเพียง 0.8-1.5% เท่านั้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อกำลังซื้อ นอกจากนี้ยังเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งปัจจุบันต้นทุนค่าแรงงานสูง คิดเป็นสัดส่วน 30-50% หรือเกือบครึ่งหนึ่งที่เป็นต้นทุนการผลิตและหากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กําลังจะเกิดขึ้น จะส่งผลให้ค่าแรงถูกขยับสูงขึ้นไปอีก ก็จะเป็นต้นทุนที่กระทบต่อต้นทุนอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มตามไปด้วย

ขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนที่ผ่านมา พบว่าในภาคอุตสาหกรรมที่ขยับเพิ่มขึ้นประมาณ 5.69 บาทต่อหน่วย เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 120% ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะในโรงงานปั่นด้ายที่คาดว่าจะกระทบสูงสุด และหากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า แน่นอนว่าราคาสินค้าจะต้องได้รับผลกระทบไปด้วย อีก 1 ปัจจัยคือ ค่าเงินบาทที่ผันผวน อาจจะส่งต่อการกําหนดราคาล่วงหน้าค่อน ข้างลําบากสําหรับอนาคต

ปัจจัยลบฉุด “แฟชั่นเสื้อผ้า” สหพัฒน์-ICC เบรกลงทุน

ด้านแนวโน้มการส่งออกในปีนี้อาจจะยังไม่สดใสมากนัก โดยเฉพาะฝั่งการ์เม้นท์ที่คาดว่ายอดส่งออกในปีนี้จะติดลบ 15% จากภาวะสต็อกล้น (over inventory) มากกว่า 40-50% จากแนวโน้มตลาดที่ยังคงชะลอตัวในปีนี้ และผู้ผลิตระงับแผนลงทุนในโรงงานใหม่ เพราะทั้งการผลิตและการลงทุนต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ จึงเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวัง ขณะเดียวกันกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์คือ ผู้บริโภค เพราะจะเริ่มเห็นกลุ่มเสื้อผ้าแบรนด์เนมเร่งจัดโปรโมชั่นลดราคาขายสินค้า ต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่ลูกค้าจะได้ของดีราคาถูก

นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องหนัง ฯลฯ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เริ่มกลับมาฟื้นตัว จากช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ห้าง การท่องเที่ยวปิดบริการ ล็อกดาวน์ แต่จนถึงปัจจุบันการเติบโตไม่ได้หวือหวาหรือฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญหรือเติบโตเท่ากับก่อนโควิดมากนัก

ทั้งนี้ปัจจุบันไอ.ซี.ซี.ฯ ไม่ได้โฟกัสการทำตลาดในกลุ่มสินค้าใหม่หรือสินค้าเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สินค้าที่ ไอ.ซี.ซี. ถืออยู่ในมือและดูแลอยู่จะเน้นพัฒนาไปพร้อมกับองค์กรทั้งหมด โดยที่ผ่านมาได้ปรับกระบวนการและวิธีการทำงานหลายอย่างเพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตในฝั่งของโรงงานเพื่อควบคุมต้นทุนที่สูงขึ้น

ปัจจัยลบฉุด “แฟชั่นเสื้อผ้า” สหพัฒน์-ICC เบรกลงทุน

ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ไอ.ซี.ซี. ยังไม่มีการปรับราคาสินค้าขึ้นแต่อย่างใด หรือปรับเพียงเล็กน้อยในบางสินค้าเนื่องจากพอร์ตธุรกิจของไอ.ซี.ซี. เป็นสินค้าแฟชั่น ดังนั้นสินค้าแฟชั่นรูปแบบสินค้าเดิมๆที่ขายมาหลายปีบริษัทจะไม่ปรับขึ้นราคา แต่สินค้าใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นบริษัทจะคิดราคาขายปลีกตามราคาต้นทุน ณ เวลานั้นๆ

“ปีนี้ปัจจัยภายนอกเราไม่ค่อยห่วงเพราะเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการเฝ้าดูปัจจัยภายในของเราให้สามารถควบคุมสิ่งต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีปัจจัยจากภายนอกเข้ามา เราจะยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเราทำได้และไปต่อได้ ส่วนเรื่องค่าแรง 450 บาทนั้น เราก็ไม่ได้กังวลมากนัก เพราะไม่ใช่แค่เราที่เจอ แต่เจอทั้งระบบธุรกิจ ทุกคนที่จะต้องจ่ายค่าแรงก็จะต้องขึ้นกันหมด ส่วนเรื่องของต้นทุนเรามีการปรับกระบวนการปรับหลายๆอย่างตั้งแต่ช่วงโควิด ทำให้ต้นทุนลดลง”

อย่างไรก็ตามปัจจุบันสินค้าในพอร์ตของ ไอ.ซี.ซี. ที่ยังเติบโตดีเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ น้ำยาปรับผ้านุ่ม Essence, กลุ่มสินค้าราคาสูงและสินค้าที่ไม่ได้เน้นการลดราคา ยังเติบโตได้ดี ในปีนี้ ไอ.ซี.ซี.คาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตราว 20-30% เนื่องจากปีที่ผ่านมาฐานต่ำ แต่ยอมรับว่ามีเพียงบางแบรนด์เท่านั้นที่สามารถฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าช่วงก่อนโควิดได้ ส่วนบางแบรนด์ยังเทียบไม่ได้กับช่วงก่อนโควิด

“จริงๆแล้วการฟื้นตัวถือว่าเทียบได้ยากเพราะวิธีการขายของเราเปลี่ยนไป ก่อนโควิดเราขายสินค้าราคาเต็มน้อย สินค้าลดราคาเยอะจึงได้ยอดขายแบบนั้น แต่หลังจากโควิดเข้ามาเราปรับปรับเปลี่ยนการทำงาน และวิธีการขาย โฟกัสสินค้าที่มาร์จิ้นดีเยอะขึ้น และลดสินค้าที่ลดราคาให้น้อยลง ทำให้ภาพรวมยอดขายอาจจะยังไม่เท่าปีที่แล้ว แต่ประสิทธิภาพมันดีขึ้น

ปัจจัยลบฉุด “แฟชั่นเสื้อผ้า” สหพัฒน์-ICC เบรกลงทุน

ส่วนการลงทุนในปีนี้ยังไม่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติม ส่วนมากจะเป็นการปรับกำลังการผลิตเล็กน้อยในองค์กร ไม่มีการแตกแบรนด์ใหม่ แต่บางแบรนด์อาจจะมีการออกคอลเลคชั่นใหม่บ้างเล็กน้อย ส่วนกลุ่มสินค้าญี่ปุ่นมีไลน์สินค้าใหม่ๆเข้ามาเรื่อยๆ

สุดท้ายในช่วงโควิดสัดส่วนของออนไลน์เราสูงมาก แต่หลังจากโควิดตอนนี้ยอดออนไลน์ของเราลดลงมากทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นการที่เรานำอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทยและต่างชาติ เช่น จีน มาเลเซีย เวียดนาม มาไลฟ์จำหน่ายสินค้า ในงาน สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 27 เข้ามาอาจจะเป็นการกระตุ้นยอดขายแต่จะสามารถทำรายได้สูงขึ้นมากน้อยแค่ไหนก็จะต้องรอดูว่าจะได้ผลขนาดไหน”

ด้านนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ และผู้บริหารเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับตัวสูงขึ้น และการส่งออกอาจไม่ดีนัก สำหรับสหพัฒน์เองมีความพยายามขึ้นราคาสินค้าให้ต่ำที่สุดเพื่อสามารถส่งต่อสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตาม สถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อของต่างประเทศด้วยว่าแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีกหรือไม่ หากสหพัฒน์จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจากประเทศนั้นก็อาจจะต้องขึ้นราคา นอกจากว่าเมืองไทยสามารถผลิตวัตถุดิบนั้นได้เองบริษัทจึงจะสามารถคงราคาเดิมได้

ขณะเดียวกันปัจจัยทางด้านค่าเงินบาทตอนนี้นับว่าสถานการณ์ดีขึ้นบ้าง ต้องรอรัฐบาลใหม่หากดำเนินนโยบายถูกต้องจะทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องค่าแรงที่สูงขึ้นเพราะจะกระทบเรื่องการลงทุน อาจทำให้นักลงทุนจากต่างชาติเช่น ญี่ปุ่น ที่สนใจจะมาลงทุนกับเรายกขบวนไปลงทุนที่เวียดนามแทน สังเกตได้จากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าต่อให้ไม่ขึ้นค่าแรงก็เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามแล้ว

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา

“สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลใหม่จะต้องทำ คือการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ใช่ขึ้นค่าแรง เราต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้คนมีการศึกษา ให้คนมีงานทำให้ คนไม่ว่างงาน เช่น การเกษตรถ้าเราพัฒนาด้านการเกษตรให้ราคาที่สูงขึ้น คนที่ทำเกษตรก็จะไม่ไหลเข้ามาทำอุตสาหกรรม ก็จะทำให้ไม่มีคนว่างงาน

ตรงกันข้ามถ้าเกษตรลดลงก็จะทำให้คนต่างจังหวัดไหลเข้ากรุงเทพฯ และทำให้เจอปัญหาค่าแรงต่ำ การปรับค่าแรงจะทำให้ท่องเที่ยวเราเสียหาย เพราะตอนนี้คนที่มาท่องเที่ยวมองว่าเมืองไทยอาหารดี ค่าครองชีพดี แต่ถ้าค่าแรงสูงขึ้นสูงขึ้น เราก็จะเหมือนอเมริกาหรือเม็กซิโกที่คนไหลไปประเทศอื่น

สหกรุ๊ปเป็นพ่อค้า เราต้องสามารถปรับตัวได้ทุกรัฐบาล อย่างค่าแรงสูงขึ้นเราก็ต้องทำให้ของทุกอย่างไม่ขึ้นราคาตามค่าแรง ดังนั้นสหกรุ๊ปไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาเราก็ต้องปรับตัวเองนี่คือจุดเด่นของเราในการทำธุรกิจ เพราะไม่มีปีไหนง่าย อยู่ที่เราปรับตัวอย่างไร ถ้าเราปรับตัวทันเหตุการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส แต่ถ้าเราปรับตัวช้าก็อาจจะเกิดการสูญเสีย ซึ่งเราไม่ใช่พึ่งมาปรับตัวแต่เราปรับตัวมาเป็นเวลานานนับ 10 ปีในลักษณะค่อยๆ ปรับ”

หน้า 15  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,894 วันที่ 8 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2566