แรงเกินต้าน K-Culture “ซูกิชิ” สปีดสร้างอาณาจักร อาหาร-เครื่องดื่มเกาหลี

08 มิ.ย. 2566 | 06:15 น.

เปิดยุทธศาสตร์ “ซูกิชิ” สร้างอาณาจักรปิ้งย่างสไตล์เกาหลี จ่อเปิดตัว 4-5 แบรนด์ ทั้ง Premium a la carte, โมเดิร์นโคเรีย, สุกี้ บุฟเฟต์สายพาน ควักกว่า 140 ล้าน ขยายสาขาใหม่ - AI จ่อเข้าตลาดหุ้น

วัฒนธรรมเกาหลี (Korean Culture) ทั้งซีรีย์ อาหาร การแต่งกาย รวมถึงความบันเทิง จากศิลปิน นักร้อง นักแสดง นอกจากจะถูกถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลก ยังสร้างให้คนไทยเสพติดสิ่งเหล่านี้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตอย่างผสมผสานกลมกลืม และกลายเป็นกระแสนิยมสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย รวมถึงอาหารเกาหลี ปิ้งย่างสไตล์เกาหลี และในอนาคตอันใกล้จะเห็นคาเฟ่สไตล์เกาหลี สแน็คและอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

นายนพดล จิรวราพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูกิชิ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ธุรกิจร้านปิ้งย่างและอาหารเกาหลี Sukishi Korean Charcoal Grill ร้านSukishi Everyday ร้านTiga Pizza ร้านTokki Izakaya และชานมไต้หวัน Wawacha Fresh ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี และธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่บริษัทต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19

ทำให้บริษัทต้องเจอปัญหามากมาย เพราะเดิมมีเพียงบริการนั่งทานในร้านในรูปแบบ a la carte เท่านั้น ไม่มีบริการดีลิเวอรี ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปรับตัว มองหาสิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้มีคอนเซปท์ใหม่ บริการใหม่ๆ เช่น เซ็ตปิ้งย่างแถมเตา ซึ่งสร้างความฮือฮา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงการให้บริการในรูปแบบ all you can eat ในทุกวันนี้

แรงเกินต้าน K-Culture  “ซูกิชิ”  สปีดสร้างอาณาจักร อาหาร-เครื่องดื่มเกาหลี

อย่างไรก็ดีหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้ในปีที่ผ่านมาบริษัทเริ่มกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบ พร้อมกับวางแผนขยายการลงทุน โดยในปี 2565 บริษัทกลับมาเติบโตได้ถึง 30% แม้จะยังไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารเริ่มกลับมาเติบโตราว 3-5% โดยพบว่าธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับความนิยม

ยังคงเป็นร้านประเภทสุกี้ ชาบู รวมไปถึงร้านปิ้งย่าง ซึ่งมีมูลค่าตลาดราว 8,000 ล้านบาท ขณะที่ร้านอาหารเกาหลีมีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท และร้านปิ้งย่าง+อาหารเกาหลี มีมูลค่าราว 5,000 ล้านบาท จากกระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลี และการท่องเที่ยวเดินทางไปเกาหลีที่เพิ่มมากขึ้นทำให้คนไทยคุ้นเคย และกลับมารับประทานอาหารเกาหลีมากขึ้น

สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทจะใช้งบลงทุนราว 100 ล้านบาทสำหรับการขยายสาขาใหม่ โดยเป็นการขยายสาขาของบริษัทเองไม่น้อยกว่า 3 สาขา นอกจากนี้ยังมีการขยายสาขาโดยแฟรนไชส์อีก 7 สาขา แบ่งเป็นสาขาในไทย (ตามหัวเมืองรอง) 6 สาขา และกัมพูชา 1 สาขา และภายใน 5 ปีจะขยายเป็น 10 สาขา รวมถึงยังวางแผนที่จะขยายสาขาไปยังสปป. ลาว เมียนมาร์ และเวียดนามด้วย

แรงเกินต้าน K-Culture  “ซูกิชิ”  สปีดสร้างอาณาจักร อาหาร-เครื่องดื่มเกาหลี

นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดตัว  new brand ภายใต้คอนเซปท์ “Premium a la carte” ในไตรมาส 4 และเปิดตัว sub brand ของซูกิชิ ภายใต้คอนเซปท์ “โมเดิร์นโคเรีย” ในรูปแบบของเซ็ตเมนูอาหารเกาหลีที่รับประทานได้สะดวก รวดเร็ว ในราคา 250-300 บาทต่อเซ็ต และสามารถให้บริการเทคโฮมได้ บนพื้นที่ราว 100 ตารางเมตร ซึ่งสามารถเปิดได้ทั้งในรูปแบบของช้อปและคีออส โดยจะเปิดให้บริการ 2 สาขาในปีนี้

บริษัทยังมีแผนนำแบรนด์ชานมไข่มุก Wawacha Fresh กลับมาทำตลาดใหม่อีกครั้ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7 สาขา และชะลอการทำตลาดไปในช่วงโควิด พร้อมปรับลุคให้ทันสมัย เสริมเมนูอาหารว่าง (สแน็ค) เพื่อเพิ่มความหลากหลาย และทำให้ลูกค้านั่งรับประทานภายในร้านได้จากเดิมที่ขายเฉพาะเครื่องดื่ม นอกจากนี้จะขยายการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ ในราคา 7 แสน-1 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่) โดยคาดว่าจะขยายแฟรนไชส์ในปีนี้ 3 สาขา

ขณะที่กลุ่มธุรกิจ “อาหารสำเร็จรูป” (ready to eat) สไตล์เกาหลี ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 50 รายการ รองรับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบอาหารปิ้งย่างสไตล์เกาหลี โดยวางจำหน่ายตลาดในประเทศเป็นหลัก และภายใน 5 ปีนี้จะขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 15% โดยมี “กิมจิ” เป็นเมนูเรือธง ซึ่งล่าสุดได้พัฒนากิมจิ ผักพื้นบ้านและกิมจิผลไม้ไทย เช่น กิมจิกะหล่ำปลี กิมจิผักกูด กิมจิดอกปลั่ง กิมจิไหลบัว กิมจิผักคันจอง กิมจิมะม่วงและกิมจิกระท้อน เป็นต้น ด้วย

นายนพดล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนอีกว่า 40 ล้านบาทในการทรานฟอร์มบริษัทสู่ “ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น” โดยเน้นเรื่องอินโนเวชั่น เทคโนโลยีมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่เริ่มนำโรบอตมาให้บริการภายในร้าน รวมถึงการให้บริการสั่งอาหารผ่าน QR Code 

แรงเกินต้าน K-Culture  “ซูกิชิ”  สปีดสร้างอาณาจักร อาหาร-เครื่องดื่มเกาหลี

ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ AI เพื่อนำมาให้บริการลูกค้าในการสั่งอาหาร รวมทั้งการลงทุนระบบฮาร์ดแวร์ POS ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการลูกค้าในแต่ละระดับ ทั้งสมาชิกกลุ่มแพลททินัม และไดมอนด์ รวมถึงลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วย

“บริษัทเตรียมความพร้อมทั้งการให้บริการในประเทศรวมถึงการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเรามีครัวกลาง ซึ่งตั้งอยู่ในย่านบางนา-ตราด บนพื้นที่ 7 ไร่ ก่อสร้างในปี 2558 ด้วยงบลงทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่นี่ได้รับการรองรับด้านมาตรฐานในระดับโกลบอล สแตนด์ดาร์ด สามารถรองรับการผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศในระยะยาว”

อย่างไรก็ดี ในปีหน้าบริษัทมีแผนนำเข้าแบรนด์ใหม่จากเกาหลี สไตล์โมเดิร์นโคเรีย จากประเทศเกาหลี เข้ามาเปิดให้บริการในเมืองไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา รวมทั้งเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ภายใต้แนวคิด “สุกี้ บุฟเฟ่ต์สายพาน” ซึ่งบริษัทเคยเปิดให้บริการเมื่อ 23 ปีก่อน และเป็นผู้บุกเบิกในตลาดเมืองไทยก่อนที่จะปิดให้บริการไปในช่วงโควิด ทั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มอาหารประเภทสุกี้และชาบู จะยังเป็นที่นิยมในกลุ่ม Gen Z และ ผู้สูงวัยอยู่

แรงเกินต้าน K-Culture  “ซูกิชิ”  สปีดสร้างอาณาจักร อาหาร-เครื่องดื่มเกาหลี

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ราว 2,200 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25% โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้ 1,800 ล้านบาท เติบโต 30% โดยสัดส่วนรายได้ 95% มาจากยอดขายผ่านร้านอาหาร ส่วนอีก 5% มาจากยอดขายผ่านแฟรนไชส์และรีเทลโปรดักต์ (อาหารพร้อมรับประทาน)

โดยภาพรวมของบริษัทใน 5 ปีนับจากนี้ คาดว่าจะมีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นอีก 4-5 แบรนด์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ในปี 2570 ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะสปินออฟธุรกิจที่มีศักยภาพ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2569 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,893 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566