ปลดล็อก “สุราเสรี” ไม่ง่าย จี้ ‘พิธา’ไล่เคลียร์กฎหมาย

26 พ.ค. 2566 | 05:15 น.

เอกชนชี้ปลดล็อก “สุราเสรี” ไม่ง่าย จี้รัฐบาลใหม่เคลียร์กฎหมายสารพัดกระทรวง ทั้งคลัง-สาธารณสุข-ทรัพยากรฯ-คมนาคม สมาคมคราฟท์เบียร์ฯ ชงโมเดลปั้น “คราฟท์สุรา” ยกระดับเหล้าขาวเทียบชั้นโซจู เกาหลี

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลและต้องการที่จะผลักดันสุราเสรีให้เกิดขึ้นได้ตามแผน 100 วัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะต้องไป เคลียร์กับกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่นประชาชนโพสต์รูปเหล้า-เบียร์จะถูกปรับ5 หมื่นบาท ในขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยจะถูกปรับ 5 แสนบาทเพราะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการค้า ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้รายย่อยไม่เกิดและไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมไปได้มาก

รวมทั้งการกำหนดเวลาในการจำหน่าย เป็นอีกหนึ่งปัญหาและค้านกับความเป็นประเทศท่องเที่ยว ตอนนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเจอกฎหมายข้อนี้หันไปเที่ยวสปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซียและเวียดนามแทน เพราะแม้แต่มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมยังไม่มีการควบคุมเวลาขาย นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งไม่อนุญาตให้ใส่รายละเอียดบนฉลากได้

ปลดล็อก “สุราเสรี” ไม่ง่าย จี้ ‘พิธา’ไล่เคลียร์กฎหมาย

“ตอนนี้ถ้าจะให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขับเคลื่อนไปได้ จะต้องเคลียร์กับหลายกระทรวงทั้งกระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิตเรื่องของกฎระเบียบในเรื่องของการผลิต กระทรวงสาธารณสุขเรื่องพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจต้องแก้ไขให้ระบุข้อมูลพื้นฐานกับผู้บริโภค

สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตเหล้าเบียร์ และคมนาคม ในการสร้างจิตสำนึกในการดื่มแล้วขับ”

นายอาชิระวัสส์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือธุรกิจที่เกี่ยวพันไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการขาย การไปออกบูธหรือการส่งออก แม้แต่การขอสินเชื่อไม่ได้ ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเหมือนลูกนอกสมรสที่ไม่มีใครต้องการ แต่ตอนเก็บภาษีโดนภาษี นำเข้า 60%, ภาษีสรรพสามิตโดน 2 ฝั่งคือฝั่งแอลกอฮอล์และฝั่งราคา

ภาษีเทศบาล 10%,ภาษีสุขภาพ 2%, ภาษีคนชรา 2% ภาษีกีฬา-สื่อ 1.5% รวมทั้งหมด 17.5% ของภาษีสรรพสามิต และ Vat ดังนั้นต้องปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งถ้าสามารถเปิดเสรีสุราได้จริงจะเป็นผลดีก็คือ สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ คือ คนเทสต์เหล้า เบียร์หรือคนที่ปรับปรุงรสชาติ สนับสนุนสินค้าเกษตรและเพิ่มสินค้าส่งออกกลุ่มใหม่

ปลดล็อก “สุราเสรี” ไม่ง่าย จี้ ‘พิธา’ไล่เคลียร์กฎหมาย

ทั้งนี้โดยภาพรวมการเดินหน้านโยบายสุราเสรี เชื่อว่าในส่วนของอุตสาหกรรมเบียร์ไม่น่ามีปัญหา เพราะวัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบนำเข้าทั้งมอลต์ ยีสต์ ซึ่งไม่ได้มีผลโดยตรงกับเกษตรกรไทย ส่วนคราฟเบียร์อยู่ในช่วงของการพัฒนาเช่นกัน แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมจะยังมีความเหลื่อมล้ำเพราะมีผู้เล่นในตลาดแค่ 2-3 รายที่เป็นรายใหญ่

ส่วนที่เหลือและเป็นรายย่อยทั้งหมด ส่วนกำลังการผลิตและทุนถูกยกเลิกออกไปแล้วเช่นกัน เพราะฉะนั้นอุปสรรคของเบียร์ตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องวิธีการขาย เวลาในการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ที่จะเป็นปัญหาคือเรื่อง “สุรา” ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรไทยเพราะใช้ข้าวไทยในการกลั่นสุรา โดยกฎกระทรวงที่ออกมาล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วยังไม่ได้เอื้อรายย่อย เพราะฉะนั้นอาจต้องให้น้ำหนักกับสุรามาก โดยเฉพาะการพัฒนาในรูปแบบคราฟท์สุราโดยอาศัยโมเดลของคราฟท์เบียร์เป็นตัวต่อ เพราะคราฟท์เบียร์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถยกระดับเบียร์ให้มีราคาสูง สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ดี

“ตลาดเหล้ามีแค่ 2 หมวดคือเหล้าขาวกับเหล้าสี ซึ่งเหล้าขาวประกอบด้วยเหล้าโรงเช่นไทยเบฟกับเหล้าชุมชน ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูงและมีเรื่องของกำลังการผลิต เพราะเหล้าชุมชนถูกบังคับด้วยกฎหมายให้ผลิตได้เฉพาะเหล้าขาวเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราเข้าใจว่า เขาน่าจะให้น้ำหนักกับส่วนนี้มากขึ้น

หากแก้กฎกระทรวงปลดล็อคให้สุราชุมชนสามารถทำเหล้าสีได้ หรือทำเหล้าขาวที่สามารถเติมสี เติมกลิ่น เติมเฟเวอร์ได้ ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นมากกว่าเป็นเหล้าขาว เหมือนเมืองนอกที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่นเติมรสสตอเบอร์รี่ ยาคูลท์ในโซจู ถ้าเหล้าขาวไทยทำได้ก็จะทำให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์สูงขึ้นได้ และไม่ต้องแข่งกับเหล้าโรงใหญ่ที่ได้เปรียบเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า”

ปลดล็อก “สุราเสรี” ไม่ง่าย จี้ ‘พิธา’ไล่เคลียร์กฎหมาย

ด้านนายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิตในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิตกล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ผลิตสุราจะมีผู้ผลิตในระดับชุมชน และรายใหญ่ แต่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติปลดล็อกให้มีผู้ผลิตตั้งแต่รายกลางขึ้นไปได้ ดังนั้นปัจจุบัน จึงมีผู้ผลิตในทุกขนาดคือ ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และ ขนาดใหญ่ โดยรายเล็กหรือในระดับชุมชนนั้น มีผู้ผลิตอยู่แล้วนับพันราย ส่วนรายกลาง ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตรายกลางยื่นจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเข้ามานับตั้งแต่เปิดเงื่อนไข ส่วนรายใหญ่ปัจจุบันก็มีจำนวนไม่มากนักเช่นกัน

“เดิมเรามีเจ้าใหญ่และกลุ่มสุราชุมชน แต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เราได้ปลดล็อกเงื่อนไขเพิ่มผู้ผลิตรายกลาง เดิมขนาดเล็กจะแค่ 5 แรงม้า ถ้ามากกว่านั้น จะเป็นโรงใหญ่ไปเลย เราก็เพิ่มขนาดกลางมาให้ ตั้งแต่ 5-50 แรงม้า” นายเกรียงไกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผลิตสุรารายใหญ่นั้น แม้จะไม่มีข้อจำกัด แต่มองว่า ผู้ผลิตรายใหญ่อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากมูลค่าการตลาดสุราอยู่ในระดับที่คงที่มานานราว 4 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน สาเหตุเพราะห้ามการโฆษณา เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ แต่หากมีผู้ผลิตรายใหญ่เกิดขึ้น ก็ถือว่า เป็นผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ

ส่วนผู้ผลิตเบียร์นั้น ปัจจุบันมีเพียงผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตเฉพาะสถานที่ ถือว่า ยังมีข้อจำกัด เพราะวิธีการผลิตเบียร์จะไม่เหมือนสุรา โดยจะมีปัญหาเรื่องของน้ำเสียและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงื่อนไขของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมมาเกี่ยวข้องด้วยเช่น กรณีโรงงานเบียร์ ถูกจัดผู้ในจำพวกที่ 3 ซึ่งต้องเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาด้วย ขณะที่สุราไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย หรือสิ่งแวดล้อม