โรดแมพ ‘โออิชิ กรุ๊ป’ อัด 600 ล้าน รักษาผู้นำ “อาหาร-เครื่องดื่ม” สไตล์ญี่ปุ่น

22 ม.ค. 2566 | 08:15 น.

เปิดยุทธศาสตร์ “โออิชิ กรุ๊ป” เดินหน้าตอกย้ำผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น ทุ่มงบกว่า 600 ล้านรุกเต็มสูบ หลังทำผลงานปี 65 โตกระฉูด มีรายได้กว่า 1.26 หมื่นล้าน เติบโตเกือบ 30% กำไร 1,199 ล้าน เพิ่มขึ้น 120%

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ายุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจใน ปี 2566 จะมุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม  อาหาร และอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน โดยใช้งบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท ถือเป็นการกลับมาลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจเครื่องดื่ม ประกอบไปด้วย

1.  มุ่งสื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชินที่มีในชาเขียวโออิชิทุกขวดเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจในสุขภาพและเลือกรับประทานอาหารเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

 2. ขยายฐานผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น

โออิชิ กรุ๊ป

3. ขยายเซ็กเม้นท์น้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออชิ ฮันนี่ เลมอน น้ำตาล 0% ที่ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้บริโภคหลังจากเปิดตัวไปในปีก่อน รวมถึง โออิชิ โกลด์ ก็ยังคงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น

4. ขยายตลาดส่งออก โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา และขยายตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน

“โออิชิถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดชาเขียวเซ็กเม้นท์น้ำตาล 0% ในปีที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับที่ดีมาก ส่งผลให้เซ็กเม้นท์เติบโตตามไปด้วย จนปัจจุบันมีสัดส่วนรวมในตลาดเครื่องดื่มชาเขียวราว 3% ของตลาดชาเขียวพร้อมดื่มที่มีมูลค่ารวมราว 13,228 ล้านบาท มีการเติบโต 22% ในปี 2565 ทำให้เซ็กเม้นท์น้ำตาล 0% กลายเป็นเซ็กเม้นท์ที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในอนาคต บริษัทจึงมีแผนขยายไลน์เครื่องดื่มเซ็กเม้นท์นี้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อรักษาความเป็น

โรดแมพ ‘โออิชิ กรุ๊ป’ อัด 600 ล้าน รักษาผู้นำ “อาหาร-เครื่องดื่ม” สไตล์ญี่ปุ่น

ผู้นำในธุรกิจชาเขียว ซึ่งจากข้อมูลของ NielsenIQ ประเทศไทย ระบุว่า โออิชิ กรีนที เป็นผู้นำตลาดโดยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 48% ซึ่งในปีนี้บริษัทคาดหวังที่จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 50%”

ด้านธุรกิจอาหาร ในปีนี้จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วยการขยายสาขาและช่องทางการขายในรูปแบบ Multi Format และธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมเพิ่มความหลากหลายของช่องทางจำหน่ายแบบไร้รอยต่อ (Omni Channel) และการบริหารจัดการร้านอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ

โรดแมพ ‘โออิชิ กรุ๊ป’ อัด 600 ล้าน รักษาผู้นำ “อาหาร-เครื่องดื่ม” สไตล์ญี่ปุ่น

โดยปัจจุบันโออิชิ มีร้านอาหารรวม 266 สาขา (ข้อมูล ณ เดือนก.ย. 2565) ประกอบไปด้วย ร้านอาหารระดับพรีเมียม ได้แก่ โออิชิ แกรนด์ 1 สาขา, โฮว ยู  4 สาขา และซาคาเอะ 1 สาขา , ร้านอาหารระดับพรีเมียม แมส ได้แก่  โออิชิ อีทเทอเรียม  9 สาขา, โออิชิ บุฟเฟต์  7 สาขา, นิกุยะ  5 สาขา และ ชาบู บาย โออิชิ 2 สาขา ร้านอาหารระดับแมส ได้แก่ ชาบูชิ 162 สาขา,โออิชิ ราเมน 52 สาขา, คาคาชิ 16 สาขา และโออิชิ บิซโทโระ 8 สาขา

“ในปีนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 30 สาขาถือเป็นการลงทุนมากที่สุดครั้งหนึ่ง จากเดิมที่มีการขยายสาขาราว 12-15 สาขาต่อปี รวมทั้งจะเห็นร้านอาหารในโมเดลใหม่ๆ และการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ คือการลงทุนแฟรนไชส์ โดยเริ่มต้นที่แบรนด์ “โออิชิ บิซโทโระ” ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์ QSR ที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว รองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาแบรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”

โรดแมพ ‘โออิชิ กรุ๊ป’ อัด 600 ล้าน รักษาผู้นำ “อาหาร-เครื่องดื่ม” สไตล์ญี่ปุ่น

ขณะที่ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ในช่วงก่อนและหลังสถานการณ์แพร่ระบาด อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงพร้อมทาน ได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้มีคุณภาพ มีความสะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลายของประเภทอาหาร บริษัทฯ จึงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารสำเร็จรูปฯ

โดยชูจุดแข็งด้านรสชาติ คุณค่าโภชนาการ และคุณภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฐานตลาดผู้บริโภคและยอดขาย ประกอบกับการพัฒนาสินค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรส, กลุ่มอาหารพร้อมทาน (ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน) และกลุ่มหมูปรุงรส (หมูสับผสมข้าวโพดปรุงรส-แช่แข็ง)เป็นต้น

นางนุงนุช กล่าวอีกว่า ผลประกอบการโออิชิ กรุ๊ป ในปีที่ผ่านมา (1 ตุลาคม 64-30 กันยายน 65) บริษัท มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,878 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 29.3% กำไรสุทธิ 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 654 ล้านบาท หรือคิดเป็น 120% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โรดแมพ ‘โออิชิ กรุ๊ป’ อัด 600 ล้าน รักษาผู้นำ “อาหาร-เครื่องดื่ม” สไตล์ญี่ปุ่น

แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,042 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.7%  กำไรสุทธิ 1,124 ล้านบาท เติบโต 24.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจอาหารมีรายได้ 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,836 ล้านบาท หรือคิดเป็น 51.5%  กำไร 75 ล้านบาท เติบโต 121% 

ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นมากและจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารที่ทำให้มีผู้บริโภคกลับมาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น ประกอบกับมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับแผนกลยุทธ์ในอนาคต โออิชิ กรุ๊ป มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมาย PASSION 2025 โดยสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการออกสินค้าใหม่ๆ ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่อง Health & Wellness ที่เป็นเทรนด์สำคัญในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันการเข้าถึงลูกค้าด้วยการขยายสาขาด้วย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,855 วันที่ 22 - 25 มกราคม พ.ศ. 2566