“โออิชิ” ปั้นโมเดลไฮบริด รับเทรนด์สุขภาพ-ยั่งยืน

23 ธ.ค. 2565 | 06:40 น.

“โออิชิ” ชี้เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยังติดลมบน รีล้อนซ์ “โออิชิ แกรนด์” โมเดลใหม่สไตล์ไฮบริด “บุฟเฟต์ผนวกอาลาคาร์ท” รองรับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนนิยมเมนูสุขภาพ พร้อมเดินหน้าขยายสาขาเพิ่ม ต่อยอดสู่แบรนด์อื่น

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ โออิชิ เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารยังมีการเติบโตต่อเนื่อง หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย และเห็นตัวเลขการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีธุรกิจอาหารที่ยังคงได้รับความนิยมได้แก่ อาหารญี่ปุ่น, อาหารเกาหลี และอาหารไทย ทำให้เชื่อมั่นว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นจะยังคงได้รับ ความนิยมและอยู่ในใจผู้บริโภคคนไทยอันดับต้นๆ

 

ล่าสุดบริษัทเปิดให้บริการร้านอาหารญี่ปุ่น “โออิชิ แกรนด์” (OISHI GRAND) อีกครั้งหลังจากปิดให้บริการไปปีเศษ ในรูปแบบใหม่บุฟเฟต์สไตล์ไฮบริด ซึ่งเป็นการผสมผสานการให้บริการแบบบุฟเฟต์และ Alacarte โดยมีเมนูให้เลือกหลากหลายหมวด อาทิ ซูชิ ซาชิมิ ดงบุริ เทปปันยากิ ยากิโมโนะ อาเกะโมโนะ นาเบะ/สุกี้ยากี้ ฯลฯ รวมกว่า 200 เมนู พร้อมบริการบุฟเฟต์ 3 ระดับราคา

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล

ได้แก่ ระดับ PREMIUM Buffet ราคา 1,059 บาท++ต่อคน, ระดับ PLATINUM Buffet ราคา 1,659 บาท++ต่อคน และ ระดับ PRESTIGE Buffet ราคา 2,659 บาท++ต่อคน โดยแต่ละระดับสามารถใช้บริการได้นาน 2 ชม. โดยเปิดให้บริการสาขาแรกที่สยามพารากอน ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

           

โดยกลยุทธ์การทำตลาดของโออิชิ แกรนด์ เน้นใน 4 ด้าน ได้แก่

 

1. การมุ่งส่งมอบประสบการณ์อาหารญี่ปุ่นต้นตำรับ วัตถุดิบคุณภาพ สะอาด สดใหม่ ครบจบในร้านเดียว

 

2. ผสานการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริการอย่าง ระบบการสั่งอาหารอัตโนมัติผ่านคิวอาร์โค้ดด้วยแท็บเล็ต ณ จุดให้บริการภายในร้าน หรือโทรศัพท์ มือถือส่วนตัว เป็นต้น

“โออิชิ” ปั้นโมเดลไฮบริด รับเทรนด์สุขภาพ-ยั่งยืน

3. การปรุงประกอบอาหารแบบจานต่อจาน (ในลักษณะ Made-to-Order) เพื่อคุณภาพและความสดใหม่ของอาหาร

 

4. ลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และขยะอาหาร (Food Waste) โดยเปล่าประโยชน์ รับเทรนด์การบริโภคอาหารแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การก้าวสู่ความยั่งยืนในปี 2030

           

“ภาพใหม่ของโออิชิแกรนด์ ที่เกิดขึ้นมาจากคอนซูเมอร์ อินไซด์ ที่พบว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและใส่ใจในความยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรานำมาปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า เช่น การเพิ่มเมนูแบบ alacarte การปรุงประกอบอาหารแบบจานต่อจาน (ในลักษณะ Made-to-Order) ทำให้ลูกค้าได้อาหารที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ ลดการสูญเสียอาหาร และขยะอาหาร เป็นต้น”

 

ทั้งนี้ภาพใหม่ของโออิชิ แกรนด์จะเน้นความเป็น JAPANESE FOOD 100% ตอกยํ้าความเป็นผู้นำด้านอาหารญี่ปุ่น จากเดิมที่จะเป็น JAPANESE & INTERNATIONAL FOOD สู่การเป็นซูชิ เดสติเนชั่น และซาซิมิ ซึ่งมีพื้นที่ราว 400 ตรม. รองรับลูกค้าได้ 130 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนราว 20 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 1-2 แห่ง ได้แก่ วัน แบงคอก เป็นต้น ทั้งนี้หากโมเดลนี้ได้รับความนิยม ตอบรับดี จะต่อยอดไปยังร้านชาบูชิและโออิชิ อีททอเรียมด้วย

“โออิชิ” ปั้นโมเดลไฮบริด รับเทรนด์สุขภาพ-ยั่งยืน            

นางนงนุช กล่าวอีกว่า การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารในปีหน้ายังคงดุเดือดเช่นเดิม แต่การอยากที่จะเป็นที่ 1 ในใจลูกค้า เมื่อลูกค้าคาดหวังหรือเปลี่ยนแปลงไปเราก็อยากเดินไปกับลูกค้า การแข่งขันจึงบังคับให้เราต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ และอยู่แบบยั่งยืน