เปิด 3 ปัจจัย รับเทรนด์ตลาดอาหาร-เครื่องดื่มทั่วโลกปี 66

10 ม.ค. 2566 | 23:00 น.

มินเทล เปิด 3 ปัจจัย หนุนเทรนด์ตลาดอาหาร-เครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปี 66 ดึงกลยุทธ์แบรนด์เข้าช่วย อุ้มผู้บริโภค แก้ปัญหาแผนจับจ่ายใช้สอย

โจลีน อึ้ง นักวิเคราะห์อาวุโสด้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกของมินเทล กล่าวว่า มินเทลได้เผยแพร่รายงานภาพรวมตลาดอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้ความสำคัญกับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1.เงินเฟ้อและความคุ้มค่า สุขภาพกายและสุขภาพจิต และประสบการณ์รสสัมผัสยุคใหม่ ผ่านการสำรวจแนวโน้มผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงของตลาดอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เบื้องต้นรายงานการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับภูมิภาคของมินเทล ดังกล่าวมาจากกลยุทธ์ที่แบรนด์ควรใช้เพื่อช่วยผู้บริโภคในเอเชีย-แปซิฟิก จัดการกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และความคุ้มค่ากลายเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ข้อแนะนำต่าง ๆ   

 

สำหรับปัจจัยแรก คือ เงินเฟ้อและความคุ้มค่า เนื่องจากผู้บริโภคได้คำนึงถึงงบประมาณการใช้จ่ายจะเลือกเข้าร้านที่ถูกกว่าและเลิกซื้อสินค้าจากแบรนด์ประจำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยสถานการณ์นี้เป็นทั้งความเสี่ยงต่อร้านค้าปลีกเพราะผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปเข้าร้านคู่แข่งที่มีความคุ้มค่ามากกว่า ซึ่งเป็นทั้งโอกาสให้ร้านค้าปลีกจัดโปรโมชันราคาประหยัดเพื่อดึงดูดลูกค้า การจัดโปรโมชันสำหรับสินค้าจำเป็นที่เน่าเสียยากจะดึงดูดผู้บริโภคได้ดี เพราะพวกเขากำลังให้ความสนใจกับสินค้าแช่แข็งและสินค้าที่เก็บได้นาน
 

ขณะเดียวกันในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ หมวดหมู่อาหารเพื่อความสุขจะมีความต้องการสูง เพราะผู้บริโภคได้หาความสุขให้ตัวเองผ่านความสะดวกสบาย โดยแบรนด์ค้าปลีกสามารถใช้โอกาสนี้ในการเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่เกิดจากการลดการจับจ่ายนอกบ้านด้วยการมอบอาหารและบริการเพื่อความสุขในราคาที่ถูกลง

เปิด 3 ปัจจัย รับเทรนด์ตลาดอาหาร-เครื่องดื่มทั่วโลกปี 66

“จากสถานการณ์เงินเฟ้อยังมอบโอกาสให้แบรนด์ขนมขบเคี้ยวของร้านค้าปลีกสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอคุณภาพของสินค้าและจัดวางตำแหน่งทางการตลาดในหมวดหมู่สินค้าราคาประหยัด เช่น การเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นสิ่งสำคัญในการขยายฐานลูกค้า”
 

โจลีน อึ้ง กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ 2  สุขภาพกายและสุขภาพจิต จากงานวิจัยด้านความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคอินเดียในด้านจิตใจและอารมณ์ พบว่า 66% ของผู้ใหญ่ชาวอินเดียบอกว่าปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น การนอนไม่หลับ ,ความเหนื่อยล้า มีอาการเหมือนเดิมหรือแย่ลงในช่วงการระบาด แสดงให้เห็นว่าโควิด-19 ได้เปลี่ยนชีวิตประจำวันของคน ในด้านการนอนหลับของผู้บริโภคทุกช่วงอายุ ส่งผลให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มต้องการอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยแก้ปัญหาด้านการนอนหลับเพื่อการมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่แข็งแรง นอกเหนือจากการนอนหลับ โดยแบรนด์สามารถสนับสนุนทางโภชนาการส่วนบุคคลเพื่อความสมดุลของฮอร์โมนและสุขภาพที่ดี ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลได้

 

ส่วนเทรนด์ความงามที่กินได้ เช่น เครื่องดื่มหลังออกกำลังกายที่มีการเพิ่มคุณสมบัติด้านความงามอาจได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จากงานวิจัยของมินเทล พบว่า 67% ของผู้บริโภคเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงามมีส่วนช่วยในการบำรุงร่างกายโดยรวมได้เช่นกัน รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากแนวคิดของผู้บริโภคได้ด้วยการนำเสนอโซลูชันสุขภาพองค์รวมด้วย

เปิด 3 ปัจจัย รับเทรนด์ตลาดอาหาร-เครื่องดื่มทั่วโลกปี 66
โจลีน อึ้ง กล่าวต่อว่า ปัจจัยสุดท้าย คือ ประสบการณ์รสสัมผัสยุคใหม่ เนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นพบว่าไลฟ์สไตล์การสร้างความสำราญภายในบ้าน คือการรับประทานเบเกอรี่จากสินค้าพร้อมอบแช่แข็ง ที่ได้รับความนิยมสูง เพราะทำง่ายและเก็บได้นาน โดยเฉพาะชนิดที่อบง่ายและละลายเร็ว  ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น

 

จากงานวิจัยของมินเทล ยังพบว่า 38% ของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นคิดว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ควรมีการนำเสนอโดยให้ความสำคัญเทียบเท่ากับรสชาติของอาหารถึงแม้ว่าจะทำได้หลายวิธี แต่การนำเสนอด้วยรูปภาพที่น่าสนใจจะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดลูกค้า รวมทั้งแบรนด์อาหารควรพัฒนาและคำนึงถึงสุขภาพ เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้ด้วย 

 

นอกจากนี้แบรนด์หมวดหมู่น้ำอัดลม สามารถใช้รสชาติต่างๆ เช่น ดอกไม้และพืชต่าง ๆ เป็นรสชาติใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเพิ่มความหมายของรสชาตินั้น ๆ ให้ผู้บริโภคแสดงออกถึงความสนใจและวัฒนธรรมของพวกเขาได้ เช่น การใช้รสซากุระซึ่งเป็นดอกไม้ที่สื่อถึงประเทศญี่ปุ่น