ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจีนมูลค่า 7 แสนล้านบาทบูม

18 ธ.ค. 2565 | 13:52 น.

"ชาวจีน" นิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นหนุนตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนเติบโตก้าวกระโดด มูลค่าตลาดรวมกว่า 7 แสนล้านบาท ด้านพาณิชย์แนะผู้ส่งออกขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเข้าสู่ตลาดจีน

กระแสความนิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยถือเป็นสินค้าดาวรุ่งที่นำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก ประมาณปีละ 65,000 ล้านบาท

 

จากข้อมูลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออกรวม 74,975.65 ล้านบาทขยายตัว 34.41% ตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 21,520.36 ล้านบาท ขยายตัว 59.11% ญี่ปุ่น 8,411.20 ล้านบาท ขยายตัว 6.56% และอิตาลี 4,821.45 ล้านบาท ขยายตัว 52.59 %

สินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว 65,279.63 ล้านบาท ขยายตัว41.05% อาหารสัตว์อื่น ๆ 9,696.02 ล้านบาท ขยายตัว2.06% ซึ่งประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมนีและอเมริกา

 

ทั้งนี้ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังประเทศในแถบเอเชียกว่า 32 ประเทศ หรือคิดเป็น 42% ของการส่งออกทั่วโลก โดยประเทศนำเข้าที่สำคัญคือ ประเทศญี่ปุ่น ตามด้วย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย และจีน

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง และของใช้ในชีวิตประจำวันของสัตว์เลี้ยง ครองส่วนแบ่งตลาด ในสัดส่วนที่มากที่สุด

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์”

โดยผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงในจีนปี 2019 มีมูลค่า 105,800 ล้านหยวน หรือประมาณ 560,740 ล้านบาท และปี 2021 มูลค่าเพิ่มขึ้น เป็น 140,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 742,530 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรที่มีฐานะโสด มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ซึ่งส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ถูกครองโดยบริษัทต่างชาติ โดยอาหารหลัก Royal Canin ครองส่วนแบ่งตลาด 13% รองลงมา Myfoodie 8% PureNatural 7% และ Orijen Cat & Kitten 5% และอาหารว่าง Myfoodie ครองส่วนแบ่งตลาด18% รองลงมา Wanpy , FancyFeast และ Frisian ครองส่วนแบ่งประมาณ 5 % แต่อุตสาหกรรมของจีนเริ่มมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น

 

จึงน่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยรายใหม่ ๆ จะขยายเข้าสู่ตลาดได้หลายช่องทาง ทั้งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังในจีน หรือช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนโดยการร่วมมือกับพันธมิตร คู่ค้าที่น่าเชื่อถือได้ในจีน และเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้ากับเทศกาลสำคัญของแพลตฟอร์มออนไลน์ การทำคลิปวิดีโอสั้น การร่วมกับผู้มีชื่อเสียงท้องถิ่นในการแนะนำสินค้า รวมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติระดับประเทศทั้งในเมืองหลวง และเมืองรองต่าง ๆ เพื่อทดสอบตลาดในระยะเริ่มต้น 

 

นอกเหนือจากการทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังในจีนแล้วยังจะต้องศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนในการเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณสมบัติของอาหารสัตว์เลี้ยงให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนที่มีความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีสารอาหารเสริมครบถ้วน ต้องการผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ ที่มีความเป็นธรรมชาติหรือออร์แกนิก เพราะสินค้ากลุ่มนี้ ผู้เลี้ยงสัตว์วัยหนุ่มสาวชาวจีนให้ความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยง ขณะที่อุตสาหกรรมไทยอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยถือว่ามีคุณภาพ มีจุดแข็ง อาทิ มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าคู่แข่งซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยงไทยมีความแข็งแกร่ง