“ไทยเรล โลจิสติกส์” เปิดเส้นทางขนส่งทางรางชายแดน ส่งสินค้าเกษตร 10 ตู้ลงใต้

22 ธ.ค. 2565 | 12:49 น.

“ไทยเรล โลจิสติกส์” ผนึกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิด “ศูนย์รวมและกระจายการขนส่งสินค้าเกษตรทางราง ศรีสำราญ” ขยายเส้นทางขนส่งสินค้าเกษตรทางรางเชื่อมต่อสปป.ลาว จีน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ ประเดิมส่งสินค้าเกษตร 10 ตู้คอนเทนเนอร์ลงใต้

“ไทยเรล  โลจิสติกส์” ขยายเส้นทาง ขนส่งสินค้าครอบคลุมในประเทศ และขนส่งชายแดนเชื่อมต่อเพื่อนบ้าน  จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการรถไฟแห่งประเทศไทย  เปิด “ศูนย์รวมและกระจายการขนส่งสินค้าเกษตรทางราง  ศรีสำราญ”  อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี  รองรับการกระจายสินค้าส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ขนส่งเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน  ทั้ง สปป.ลาว จีน กัมพูชา มาเลเซียและสิงคโปร์ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้ถูกลงกว่า50% ประเดิมขนส่งเที่ยวแรกส่งสินค้าเกษตร 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งข้าวสาร  อาหารสัตว์  วัว  ลงสู่ภาคใต้

 

“ไทยเรล  โลจิสติกส์” เปิดเส้นทางขนส่งทางรางชายแดน ส่งสินค้าเกษตร 10 ตู้ลงใต้
นางสาวณัฏฐา ธนกิจสถาพร ประธานบริหาร บริษัท ไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด  เปิดเผยว่า การเปิดศูนย์รวมและกระจายการขนส่งสินค้าเกษตรทางราง  ศรีสำราญ ” อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี  นี้เป็นขบวนแรกที่ให้บริการขนส่งทางรางอย่างเป็นทางการ  หลังจากที่ได้เปิดทดลองใช้บริการขนส่ง  เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อทดลองระบบและการใช้เส้นทางโดยทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ เส้นทางจุดหยุดรถศรีสำราญ จ.สุพรรณบุรี-สถานีบ้านทุ่งโพธิ์  อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานีให้กับบริษัทบุญรอดซัพพลายเชน จำกัด 

 

การทดลองขนส่งสินค้าในครั้งนี้ทำให้ทราบว่า การขนส่งทางรถไฟจะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการขนส่งได้มากน้อยอย่างไร  รวมถึงการช่วยลดต้นทุนการขนส่ง  อุปสรรค ปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งจากต้นทางถึงปลายทาง การโหลดสินค้าขึ้นลง หรือขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ จากการทดลองขนส่ง   เพื่อนำประสบการณ์นี้ไปปรับปรุงแก้ไข

 

ทั้งนี้การเดินขบวนขนส่งอย่างเป็นทางการในครั้งนี้เป็นการขนส่งสินค้าเกษตรลงสู่ภาคใต้ และในอนาคตจะมีการขยายเส้นทางขนส่งสินค้าไปทุกเส้นทุกภาคในประเทศ เพราะบริษัทได้มีความพร้อมการบริการแบบครบวงจรช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้ผู้ประกอบการมากกว่า30% เมื่อเทียบกับการขนส่งในรูปแบบอื่น และมีการขยายการขนส่งสู่ชายแดนและเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสปป.ลาว   จีน กัมพูชา ทางภาคใต้เชื่อต่อไปประเทศมาเลเซีย  สิงคโปร์

 

ทั้งนี้การขนส่งสินค้าเชื่อมต่อเข้าสู่ประเทศเพื่อบ้านนั่นได้มีการเข้าเจรจาร่วมมือกัน  ทั้งภาครัฐและเอกชน  อาทิ ประเทศมาเลเซียได้จับมือกับสุลต่าน 3รัฐของมาเลเซียร่วมธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างกันซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก ในขณะที่การเจรจากับสปป.ลาว ได้จับมือกับบริษัทเวียงจันโลจิสติกส์ในการร่วมบริการขนส่งทางรางร่วมกันและจะมีการส่งต่อสินค้าไปยังประเทศจีนในอนาคต

 

ส่วนกลุ่มลูกค้าอนาคต ตั้งเป้ากลางปีหน้าขนส่งสินค้าเต็มขบวนถึงปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซียทุกวัน  วันละ 1 ขบวนไป-กลับ พร้อมเล็งส่งสินค้าเกษตร ผักผลไม้ไกลถึงจีนในส่วนขากลับจะมีสินค้ากลับมาด้วยเป็นยางพาราและกลุ่มสินค้าจำพวกอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์จากท่าเรือปีนังของมาเลเซียที่ขนส่งจากอินเดียกลับมา เพื่อจะส่งต่อไปยังจีนและไต้หวัน      

     

“หลังจากการให้บริการขนส่งสินค้าการเกษตรให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อลดต้นทุนเกษตรกรแล้ว  บริษัท ไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด  ยังมีนโยบายที่จะขนส่งสินค้าเกษตร ผลไม้ตามฤดูกาลไปให้ผู้ประกอบการนำเข้าผักผลไม้รายใหญ่ในจีนด้วย  ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรติดต่อเข้ามาค่อนข้างมาก ตัวอย่างหน่วยงานที่สนใจ เช่น  บริษัท ดีเอชแอล ซัพพลายเชน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท Flash Express (แฟลชเอ็กซ์เพรส) บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดและการท่าเรือ เป็นต้น การขนส่งสินค้าทางรถไฟมีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัย ความปลอดภัยของคนขับที่ต้องขับรถระยะไกล ค่าใช้จ่ายด้านความเสื่อมสภาพรถยนต์และซ่อมบำรุงรถยนต์ต่ำลง น้ำมันราคาสูงขึ้นและช่วยลดปัญหาเรื่องมลพิษ"

 

ด้านนายประภัตร  โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า การเปิด “ศูนย์รวมและกระจายการขนส่งสินค้าเกษตรทางราง  ศรีสำราญ” จะเป็นศูนย์รวมขนส่งสินค้าเกษตรทางรางของภาคกลาง  ที่กระจายสินค้าส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการขนส่งเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว จีน กัมพูชา   มาเลเซียและสิงคโปร์   ช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้ถูกลงกว่า50%ในยามวิกฤติน้ำมันแพง โดยขนส่งเที่ยวแรกจะเป็นการส่งสินค้าเกษตร 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งข้าวสาร   อาหารสัตว์  วัว  ลงสู่ภาคใต้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วม   

 

“เกษตรกรทุกวันนี้ประสบปัญหาค่าใช้จ่าย  น้ำมันแพงการขนส่งสินค้าการเกษตร ทางรางกระจายส่งสินค้า ทั้งในประเทศและส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน  จะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรลงมากกว่า50%  ปัจจุบัน เรามีสินค้า 5 อย่างส่งไปต่างประเทศ 1.ข้าวสารปีละ10 ล้านตัน  2.ยางพารา  3.น้ำมันปาล์ม 4.อ้อยและ น้ำตาล และ5.สินค้าอาหารทะเล    ปีหนึ่งเป็นพันล้านตัน    วันนี้พลังงานแพงทำให้ต้นทุนสูง  การแข่งขันสู้ต่างประเทศไม่ได้   การพัฒนาร่วมด้านขนส่งทางรางช่วยลดการใช้จ่ายการขนส่งมากกว่าครึ่งหนึ่ง  ถ้าสามารถเปิดการขนส่งสำเร็จจะส่งผลดีต่อเกษตรกร  เพราะถ้าขนส่งทางรถไฟ   ขนส่งทางรางช่วยลดต้นทุนการส่งสินค้าลงกว่า50 %  จะส่งผลดีต่อเกษตรกรอย่างมาก   

 

สำหรับการขนส่งปฐมฤกษ์วันนี้  ได้มีการขนส่งสินค้าเกษตรลงไปจังหวัดนครศรีธรรมราช  จังหวัดนราธิวาส 10 ตู้คอนเทนเนอร์     โดยมีการขนส่งวัว 2ตู้คอนเทนเนอร์   จำนวน 40 ตัวให้เกษตรกร  ขนส่งทางรางจะมีความรวดเร็ว ถ้าขนส่งรถยนต์จช้า 7 วัน  มีการขนส่งอาหารสัตว์1ตู้คอนเทนเนอร์ให้ถึงมือเกษตรกรอย่างรวดเร็วทันท่วงทีลดต้นทุนได้จริง  เพราะปัจจุบันภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมอาหารสัตว์ขาดแคลนโดยเฉพาะวัว 10 ล้านตัวที่กำลังขาดแคลนอาหาร 

 

นอกจากนี้มีข้าวสารส่งจังหวัดนราธิวาส และเดือนต่อไปจะมีการขนส่งผลไม้ เช่นทุเรียนไปในประเทศและต่างประเทศ ก่อนจะเชื่อมขนส่งไปต่างประเทศทั้งมาเลเซีย  สิงคโปร์ สปป.ลาว จีน และกัมพูชา ต่อไป”