“แพลนต์เบส” ฮอต บิ๊กเนมพาเหรด ดันตลาดทะลุ 4.5 หมื่นล.

15 ต.ค. 2565 | 09:46 น.

เอ็กซ์เรย์ตลาดแพลนต์เบสจ่อโตทะลุ 4.5 หมื่นล้าน แบรนด์ดังเตรียมแผนขยายพอร์ตโตต่างประเทศ หลังผู้เล่นรายใหญ่-หน้าใหม่ตบเท้าเข้าตลาดเพียบ ฉุดราคาใกล้เคียงเนื้อสัตว์จริง ขณะที่ตัวเลขผู้บริโภคเติบโตก้าวกระโดด

จาก 2 ปีก่อนที่ตลาดอาหารพืชจากธรรมชาติ หรือ Plant-Based Food มีผู้ประกอบการเพียง 4-5 ราย แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 ราย โดยเฉพาะการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเครือซีพี เบทาโกร หรือล่าสุด ปตท. บ่งชี้ให้เห็นว่าตลาดอาหารแพลนต์เบสไม่ใช่เป็นแค่แฟชั่นที่มาแล้วไป แต่เป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนตามเทรนด์ธุรกิจโลก เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 3.6 หมื่นล้านบาท

              

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แพลนต์เบสเป็นธุรกิจใหม่ของ วี ฟู้ดส์ โดยในพอร์ต Plant-based food ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์คือ 1 Plant-based protein หรือ plant-based meat ซึ่งบริษัทเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ กลุ่มที่ 2 คือผลิตภัณฑ์ Ready to Eat โดยมีผลิตภัณฑ์ V Farm Plant-based Bites รสชาติคลาสสิค 4 รายการ เป็นสินค้านำร่อง และ กลุ่มที่ 3 คือ Plant-based milk นมจากพืช ซึ่งมีสินค้าเรือธงเป็น นมข้าวโพดวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสดวกซื้อรวมทั้งร้านค้าพันธมิตร เช่นโจนส์สลัด ซึ่งช่วยสร้างการเติบโตให้บริษัทในภาพรวมปีละ 15-30%

“แพลนต์เบส” ฮอต บิ๊กเนมพาเหรด  ดันตลาดทะลุ 4.5 หมื่นล.               

ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ บริษัทยังได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 3 รายการ ภายใต้ V Farm Whole Veggie Bites ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานจากพืชในรูปแบบใหม่ และเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ รวมทั้งออกแคมเปญ “Plant-Based is calling ก้าวแรกของสุขภาพดี เริ่มด้วย วี ฟาร์ม” ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนไปถึงปลายเดือนพฤศจิกายนเพื่อขยายตลาด และดันยอดขายในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ราวๆ 30-40%

              

“สถานการณ์ทางด้านราคาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ปรับลงมาอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับเนื้อคุณภาพค่อนข้างดีแต่เชื่อว่าตั้งแต่ในช่วงปีก่อนซึ่งตลาดได้รับการตอบรับและมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายใหม่ๆ เข้ามาค่อนข้างเยอะ ทำให้ผู้บริโภคจากเดิมเป็นกลุ่มวีแกนหรือมังสวิรัติประมาณ 5% ของกลุ่มประชากร เริ่มขยายไปยังกลุ่มที่หันมาลดการบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราเติบโตสูงถึง 30% ซึ่งไม่ต้องทานทุกมื้อแต่มีความยืดหยุ่นเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เมื่อตลาดเริ่มใหญ่ขึ้นทั้งสเกลและต้นทุนการผลิตที่สามารถลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ราคาโปรตีนทางเลือกถูกลงและใกล้เคียงกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ทั่วไป

              

นอกจากนี้ยังมีการตื่นตัวในกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมโปรตีนทางเลือก หรือฟิวเจอร์ฟู้ด เพราะฉะนั้นจะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยพัฒนาทั้งเรื่องของคุณภาพรสชาติและเนื้อสัมผัสให้มีความใกล้เคียงและมีความหลากหลายของโปรตีนทางเลือกมากขึ้น และสุดท้ายเป็นเรื่องของความหลากหลายของเมนูอาหาร

 

ตอนนี้ร้านอาหารเริ่มเพิ่มเมนูแพลนต์เบสมากขึ้นทำให้การเข้าถึงง่ายขึ้น และแม้ปัจจุบันผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภควางแผนการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ มากขึ้น แต่ในมุมบวกพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงหลังเริ่มใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และมีไลฟ์สไตล์แบบ Health and Wellness เพราะฉะนั้นแม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่หรือบางกลุ่มจะได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพสูง แต่หากราคาของแพลนต์เบส ไม่แพงจนเกินไปคนก็มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว”

 

ทั้งนี้บริษัทยังได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยใช้ V Farm Whole Veggie Bites เป็นผลิตภัณฑ์นำร่องในประเทศอังกฤษผ่านเครือข่ายร้านอาหารไทย ขณะที่ฮ่องกงใช้ V Farm Plant-Based Bites เป็นผลิตภัณฑ์นำร่อง และอยู่ระหว่างการเจรจาคู่ค้าทั้งในโซนเอเชียและ อังกฤษ และยุโรปซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายและในระยะยาวจะขยายตลาดไปยังอเมริกาซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคค่อนข้างคุ้นเคยกับแพลนต์เบสอยู่แล้ว

              

ด้านนายวรกันต์ ธนโชติวรพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผู้พัฒนาแพลนต์เบสแบรนด์ “มอร์มีท” (MORE MEAT) กล่าวว่า ยุคหลังโควิดผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวและสนใจในเรื่องของสุขภาพมากกว่าเดิม รวมทั้งความสนใจในแพลนต์เบสด้วยโดยในประเทศไทยปัจจุบันมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท ในช่วงเทศกาลกินเจนี้น่าจะดันให้ตลาดเติบโตขึ้นอีกประมาณ 30% เพราะเป็นช่วงที่คนเริ่มเปิดใจและหันมาทานอาหารแพลนต์เบส เป็นประจำมากขึ้น

“แพลนต์เบส” ฮอต บิ๊กเนมพาเหรด  ดันตลาดทะลุ 4.5 หมื่นล.               

“ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดแพลนต์เบสไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาเพื่อให้ราคาต่ำ แต่แข่งขันกันที่ทำให้สินค้ามีจุดขายที่แตกต่างกันมากกว่า แต่ในส่วนของเรื่องของราคาตอนนี้แพลนต์เบสที่เป็นเจ้าใหญ่ราคาแทบจะไม่ต่างกับเนื้อสัตว์ปกติแล้วอาจจะแพงกว่าประมาณ 10-20 บาท ต่างจากเมื่อก่อนที่กว่าหลายเท่า”

              

ในส่วนของมอร์มีทยังมียอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง กินส่วนแบ่งการตลาด 30-40 % ของตลาดแม้จะมีผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชในลักษณะบดเป็นสินค้าเพียงชิ้นเดียวก็ตาม หลังจากนี้บริษัทจะเพิ่มรายการสินค้าให้มีความหลากหลาย สะดวกต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงจับมือกับพันธมิตรแบรนด์อื่นในการออกผลิตภัณฑ์ร่วมกันโดยยึดคอร์แวรูลของแบรนด์ใน 3 เรื่องคือ สุขภาพผู้บริโภค สนับสนุนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้ายอดขายเติบโตประมาณ 150-200% ในภายในปี 2565-2566

              

“ช่วงไตรมาส 4 เป็นช่วงตลาดแพลนต์เบส มีความตื่นตัวเนื่องจากมีกิจกรรมต่างๆ ที่เข้ามาส่งเสริมการขายซึ่งจะทำให้เราได้ยอดขายเติบโตสูงที่สุดและมีผู้บริโภคใหม่ๆเข้ามาสนใจมากกว่าเดิม นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าหลักของแพลนต์เบส เป็นกลุ่มที่กำลังซื้อสูง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจะเข้าใจว่าการทานโปรตีนจากพืชมีความสมเหตุสมผลต่อการลงทุนซื้อมาทานทุกมื้อ ไม่ต้องรอให้ป่วยหรือรอให้หมอสั่งจึงเริ่มทาน”

              

อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมตลาดแพลนต์เบส ในประเทศไทยค่อยๆเติบโต แต่ตลาดแพลนต์เบส เป็นตลาดที่ต้องมองในภาพรวมของตลาดโลกซึ่งเจ้าตลาดตอนนี้อยู่ที่ฝั่งอเมริกาและยุโรปดังนั้นบริษัทมีแผนขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีโอกาสในการทำตลาดมากกว่าในไทยโดยในเฟสแรกได้เปิดบริษัทในสิงคโปร์เพื่อเตรียมขยายการส่งออกและสร้างการรับรู้

              

ก่อนจะขยายตลาดไปยังเวียดนาม และอินโดนีเซีย เพราะทั้งสองประเทศนี้มีอัตราผู้ที่เคยบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืชสูงมากถึง 86% และ 73% ตามลำดับ แต่ยังมีตัวเลือกสำหรับการซื้อไม่มากนัก จึงน่าจะเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดีมากสำหรับการส่งออก และหลังจากนั้นจะมุ่งสู่ระดับเอเชียเช่นจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งมีวัฒนธรรมทางอาหารที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีแหล่งชุมชนขนาดใหญ่อยู่ในประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลก

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,824 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565