เก็บภาษีนํ้าเมาวูบ30% ชงปลดล็อก 4 มาตรการ สร้างเม็ดเงินกระตุ้นศก.

28 ส.ค. 2565 | 07:27 น.

TABBA จี้รัฐปลดล็อกกฎหมาย ปิดทางทำกินผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังคลายมาตรการธุรกิจท่องเที่ยวกลางคืน ชงพิจารณา 4 ข้อเร่งด่วน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้น ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่าย มั่นใจสร้างรายได้ให้ประเทศหลัง 3 ปีตัวเลขจัดเก็บภาษีน้ำเมาหายไปกว่า 30%

นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ 2 เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและเดินหน้าได้คือ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแม้ภาคการส่งออกจะเติบโตได้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงาน น้ำมัน ฯลฯ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเดินหน้าได้ต่อเนื่อง ในทิศทางที่ดีจากการคลายมาตรการและการส่งเสริมของภาครัฐต่างๆ

 

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันหลังโควิด-19 ซาลง และผลักดันให้การท่องเที่ยวทั้งภาคกลางวันและกลางคืนเดินหน้าได้อย่างเต็มที่และเป็นตัวช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากการสนับสนุนของภาครัฐทั้งการลดขั้นตอนการตรวจเข้าประเทศ การขยายระยะเวลาในการท่องเที่ยวในประเทศ ฯลฯ ภาครัฐจำเป็นต้องปลดล็อกภาคธุรกิจบริการในไทย เพื่อให้สอดรับด้วย

 

“วันนี้หลายอย่างคลายล็อกกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ ไม่ใช่ว่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะชี้นำธุรกิจท่องเที่ยวกลางคืน แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสันทนาการ ภาคบันเทิงเป็นหลัก เพราะเมื่อธุรกิจกลางคืนเดินหน้าได้ จะส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น รถรับจ้างสาธารณะ ร้านอาหารกลางคืน ร้านขายของที่ระลึก เกิดการจ้างงาน ทั้งนักดนตรี บาร์เทนเดอร์ พนักงานต่างๆ ฯลฯ แต่ยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่ถูกนำมาพิจารณา และส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวม”

 

ทั้งนี้จึงอยากให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาถึงความเหมาะสมในการแก้กฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าหลัง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยขอให้พิจารณาใน 4 ประเด็นได้แก่

 

1. การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ซึ่งที่ผ่านมาการห้ามขายในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นข้อประกาศที่ล้าหลังเกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่ในปัจจุบันผู้คนมีวินัย มีการทำงาน มีข้อปฏิบัติของแต่ละองค์กร กำกับควบคุมอยู่แล้ว

ธนากร คุปตจิตต์

2. การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งไม่สอดรับกับแนวทางปฏิบัติของภาครัฐที่ส่งเสริมให้คนไทยใช้นวัตกรรม ดิจิทัล ขณะเดียวกันการซื้อขายผ่านออนไลน์ สามารถควบคุมและจำกัดการเขาถึงของเยาวชนได้ ตามข้อกฏหมายอยู่แล้ว ซึ่งการห้ามบริษัทหรือผู้ประกอบการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้เกิดการขายผ่านเว็บเถื่อนที่ยากจะตรวจสอบและเข้าถึง

 

3. กฏหมายเรื่องของการโฆษณาที่ยังไม่ชัดเจน ทั้งข้อปฏิบัติและเกณฑ์ในการพิจารณา ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาสินค้า และนวัตกรรม

 

4. การจัดโซนนิ่ง ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดโซนนิ่งสำหรับผู้ประกอบการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และล่าสุดการขยายพื้นที่การจัดโซนนิ่งใน 8 พื้นที่ อาทิ ถนนข้าวสาร, หัวหิน, ภูเก็ต, พังงา, เชียงใหม่ (ในบางพื้นที่) ฯลฯ ดังนั้นรัฐควรมีการกำหนดกรอบให้ชัดเจนในเรื่องนโยบายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าได้และสร้างเม็ดเงิน ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจได้

 

“กฏข้อปฏิบัติต่างๆ เป็นกฎหมายรอง ไม่ใช่พ.ร.บ. ซึ่งออกเป็นประกาศ หรือกฏกระทรวงเท่านั้น เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าหลายกฎหมายล้าหลัง ไม่เหมาะสมกับภาวะการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขหรือยกเลิกได้ แม้วันนี้จะเป็นรัฐบาลรักษาการหรือเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมือง ก็สามารถดำเนินการได้”

           

เป้าหมายสำคัญอยากให้มองเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นหลัก หากภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจน จะเอื้อให้นักท่องเที่ยวที่กำลังจะวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในอีก 3-4 เดือนข้างหน้ากล้าตัดสินใจและเลือกมาประเทศไทย ซึ่งวันนี้ประเทศเพื่อนบ้านและหลายประเทศในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฯลฯ ต่างวางแผนเตรียมพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้ว

 

ขณะที่นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฏาคม 2565 จะพบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวมกว่า 3.1 ล้านคน ทำรายได้ด้านท่องเที่ยวกว่า 5.5 แสนล้านบาท ขณะที่หลังการผ่อนมาตรการเปิดประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่าภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องมีรายได้เติบโตราว 25-30% สร้างเม็ดเงินสะพัดในระบบกว่า 3 แสนล้านบาท

 

ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งช่วงเวลาที่เหลืออีก 4-5 เดือนนี้หากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอีก 5-6 ล้านคน คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อีกมาก และทำให้สิ้นปีนี้ไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 1 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

 

“ไตรมาส 4 ถือเป็นไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทย ที่ผ่านมารัฐบาลผ่อนปรนในหลายเรื่องเพื่อดึงให้ทัวริสต์เข้ามา แต่ยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง เพราะทัวริสต์ที่เข้ามา ย่อมอยากจะมาเที่ยว มาดื่ม มากิน ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรปล่อยโอกาสเหล่านี้ให้สูญไป ซึ่งนอกจากจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักขึ้น

 

จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รัฐเองจะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น หลังจากที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่มีการระบาดของโควิด-19 พบว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หายไปกว่า 30% โดยปีงบประมาณ 2562-2564 รวมกันจัดเก็บได้ราว 3.31 หมื่นล้านบาท”