หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงขึ้น กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทย โดยมีแนวโน้มที่จะจะทำนิวไฮ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเข้าไปแก้ปัญหา ข้อมูลล่าสุดจาก “เครดิตบูโร” พบว่า หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งทะลุ 13.6 ล้านล้านบาท หนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL พุ่ง 1.19 ล้านล้าน ขณะที่สินเชื่อ SM หรือหนี้ค้างชำระเกิน 30 วันแต่ไม่ถึง 3 เดือน กระโดดขึ้น 33% ในรอบ 1 เดือน
ซีไอเอ็มบีไทย ให้ข้อมูลกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยเจาะลึกหนี้แต่กลุ่ม ระบุว่า ในเดือนกรกฎาคม 2567 สถานการณ์สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้านยังคงเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และค่าครองชีพที่กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะในตลาดสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้านและรถยนต์ ซึ่งยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ยอดสินเชื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ เดือนกรกฎาคม 2567 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพที่สูง กำลังซื้อยังเปราะบาง อัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอและระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับตลาดรถยนต์ในประเทศที่ซบเซา (ยอดขายรถยนต์ใหม่เดือนก.ค. 67 ลดลง 23.7%)
รวมทั้งสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มรถปิกอัพ เห็นได้จากยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ที่สูง เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง แต่คาดว่าสินเชื่อจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ ในปี 2568 ตามเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง
สถานการณ์หนี้กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (SM) ของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ เดือนกรกฎาคม 2567 แม้จะมีทิศทางลดลงอยู่ที่ -1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(MoM) หรือ -3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง (SM Ratio เดือนก.ค. 67 = 8.3%) เพราะยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการปิดกิจการของผู้ประกอบการ SME ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ยังไม่สูง เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพที่สูง รวมทั้งความไม่แน่นอนของภาคการส่งออกท่ามกลางความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับประเด็น สินเชื่อบ้าน (Mortgage loan) มีการเติบโตเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 18.1% เเละ การเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 1.1%
วิจัยธุรกิจรายสาขา คาดว่า ส่วนหนึ่งมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวได้ช้า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบาง ความสามารถในการจ่ายหนี้จึงค่อย ๆ ลดลง โดยเฉพาะในผู้บริโภคระดับกลางล่าง ทำให้ทิศทางของ SM ขยายตัวขึ้นมาต่อเนื่องในปี 2567 รวมถึงพฤติกรรมของลูกหนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา คือการยอมผิดนัดชำระหนี้ที่มีหนี้ระยะยาว
เช่น สินเชื่อบ้าน เพื่อชำระสินเชื่อส่วนบุคคลก่อนเพื่อคงไว้ซึ่งสภาพคล่องของผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตาม จะสังเกตเห็นว่าการขยายตัวแบบปีต่อปีของ SM เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงแล้ว (ในเดือนมิถุนายนขยายตัว 11.7% แบบ YoY, เดือนกรกฎาคมขยายตัว 1.1% แบบ YoY)
โดยคาดว่า SM ของสินเชื่อบ้านในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะยังคงชะลอลงต่อไป เนื่องจากทิศทางของสินเชื่ออาจไหลไปสู่ NPL มากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางของ NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา โดยความกังวลจะยังคงอยู่ที่ด้านของอุปสงค์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์และสภาพคล่องของลูกหนี้เป็นหลัก