นายกฯ นัดวันนี้ รื้อแผนการคลังระยะปานกลาง รอบใหม่ รับแจกเงินดิจิทัล

26 พ.ค. 2567 | 23:06 น.

นายกฯ นัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) ปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง รอบใหม่ หาเงินรองรับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 3/2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ โดยที่ประชุมเตรียมพิจารณาปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง ภายหลังรัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

ทั้งนี้ในการหารือแผนการคลังระยะปานกลาง จะมีการทบทวนรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 ไปจนถึงปีงบประมาณ 2571 ทั้งกรอบวงเงินรายได้ วงเงินรายจ่ายแต่ละปีงบประมาณ การขาดดุลงบประมาณ กรอบวงเงินกู้สูงสุด และตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP 

โดยภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง เสร็จสิ้น ในขั้นตอนต่อไป จะนำรายละเอียดทั้งหมดเสนอเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 

จากนั้นกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ จะร่วมกันทบทวนการประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และนำเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

 

นายกฯ นัดวันนี้ รื้อแผนการคลังระยะปานกลาง รอบใหม่ รับแจกเงินดิจิทัล

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน เพื่อนำไปประกอบการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้การจัดทำงบฯ และการก่อหนี้ของหน่วยงานรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561

สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2568-2571 ฉบับทบทวน ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ 

  • ปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วง 2.8 - 3.8% (ค่ากลาง 3.3%) 
  • ปี 2569 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.8 - 3.8% (ค่ากลาง 3.3%) 
  • ปี 2570 และ 2571 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.7 - 3.7% (ค่ากลาง 3.2%) 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 - 2570 จะอยู่ในช่วง 1.3 - 2.3% และในปี 2571 - 2572 จะอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5%

2. สถานะและประมาณการการคลัง

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 - 2571 ดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 2,887,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3,040,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3,204,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 3,394,000 ล้านบาท

ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 - 2571 ดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2568 อยู่ 3,752,700 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท

ทั้งนี้จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 - 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ ดังนี้ 

  • ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 865,700 ล้านบาท หรือ 4.42% ต่อ GDP
  • ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือ 3.42% ต่อ GDP
  • ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือ 3.21% ต่อ GDP
  • ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือ 3.01% ต่อ GDP    

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็น 62.44% ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2568 - 2571 ดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 66.93%
  • ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 67.53%
  • ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 67.57%
  • ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 67.05%

3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

เป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง 

ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม