นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (16 พ.ค.67) ได้มีการนัดหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อทำความเข้าใจตรงกันในเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งการหารือวันนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนตัวเรา 2 คนต่างรู้จักกันดี เราต่างพร้อมใจที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้ หลังจากการหารือแล้ว นโยบายการเงินและการคลังจะต้องสอดประสานกันมากที่สุด
สำหรับการหารือในวันนี้ พูดถึง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องที่ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้กำหนด ใช้วิจารณญาณ ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ เพื่อดำเนินนโยบายตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกันไว้ ส่วนในปีนี้จะมีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อหรือไม่นั้น ต้องมีการคุยกัน ตามที่วิเคราะห์ ถึงเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหาข้อยุติ
ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบันมีความสอดคล้องกับเศรษฐกิจหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยส่วนนี้ ธปท. ต้องมีการทบทวน ขณะเดียวกันเราได้มองปัญหา อัตราส่วนนี้ แม้ว่าจะมีการทบทวน แต่ธปท.ก็จะมีอิสระทางความคิด เพื่อให้ออกมาดีที่สุด แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องมามองมากกว่าเรื่องนี้ คือ เรื่องหนี้เสีย สภาพคล่องที่คนไทยยังเข้าไม่ถึง และหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่สถาบันการเงิน และแบงก์รัฐจะต้องร่วมกันแก้ไข
2. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเราได้เห็นตรงกันว่าเมื่อมีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ตามที่ตกลงกันก็นำไปสู่การพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบันปัญหาของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่รัฐบาลมีความเป็นห่วง คือ การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กว่า ฉะนั้น ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำ การที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำคัญกว่า
“วันนี้ที่ได้มีการพูดคุยกัน มีการแลกเปลี่ยนกันหลายเรื่อง ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร กลุ่มที่ควรมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย อาทิ นักธุรกิจรายใหญ่ มีโอกาสเข้าถึงแล้ว ควรมีทางเลือกให้รายย่อย เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงิน รวมทั้งกลุ่มที่ปัญหาหนี้จากช่วงโควิดด้วย ซึ่งยังมีเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้กลุ่มเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อ หรือมีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผ่านมา ธปท. ได้ออกประกาศถึงสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ”
ส่วนจะมีการปรับเกณฑ์ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เกณฑ์ที่ ธปท.ใช้มา มีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งทำให้ภาคการเงินของไทยมีความเข้มเข็ง อย่างไรก็ตาม คลังมองว่าอาจจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในบ้างข้อ และดึงส่วนนี้ออกมาใช้ เพื่อช่วยปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย ซึ่งเป็นการดึงออกมาจากพอร์ตสินเชื่อโดยรวมเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ พอร์ตแต่ละแบงก์มีประมาณ 4 ล้านล้านบาท เชื่อว่าไม่กระทบเรื่องการปล่อยสินเชื่อตามเกณฑ์ปกติ
“เชื่อว่าหลังจากคุยกันแล้ว จะมีการสร้างความยืดหยุ่นให้คนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ หรือสามารถทำได้ในกรอบที่ทำได้ ซึ่งบางตัวก็อยู่ในสิ่งที่แบงก์ตัดสินใจได้อยู่แล้ว เช่น ลูกหนี้ที่มีการตั้งสำรองไว้ครบถ้วน ทั้งนี้ ผู้ว่าธปท. เห็นด้วยกับปัญหาขาดสภาพคล่องของรายย่อย ส่วนนี้ก็คงต้องมานั่งคุยกัน โดยคลัง และธปท.ก็กำกับสถาบันการเงินเช่นเดียวกัน ซึ่งเราสามารถลงไปดูรายละเอียดได้ เชื่อว่าธปท.คงทำเช่นเดียวกันกับที่คลังได้ดำเนินการไปแล้ว”
สำหรับการหารือกันวันนี้ คุยอยู่ในกรอบเท่านี้ก่อน หลังจากนี้ต้องกลับไปทำการบ้าน ว่าแต่ละคนคิดอะไร อาจจะเจอรายละเอียดมากยิ่งขึ้น แต่อยู่ภายใต้โจทย์ต้องช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสิ่งที่เห็นคล้ายกัน คือ เมืองไทยต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ
“หลังจากนี้เราก็คงมาคุยกันบ่อยขึ้น ครั้งต่อไปอาจจะไม่ต้องมานัดเจอกันแล้ว แต่การหารือครั้งนี้เป็นครั้งแรก จึงได้นัดเจอกันที่กระทรวงการคลัง ซึ่งเราคุยกันวันนี้นานเกือบ 2 ชั่วโมง ส่วนครั้งต่อไปขอเวลาทำงานก่อน แต่ถ้ามีความคืบหน้าใกล้เคียง จะมีการนัดคุยกันอีกสักรอบ เพื่อหาข้อยุติ สรุปแล้วทั้งคลัง และธปท.ต้องกลับไปทำการบ้าน”