อ.อ๊อด เตือน กินข้าวเก่า 10 ปี ให้ตรวจสุขภาพด้วย เสี่ยงสารอะฟลาท็อกซิน

08 พ.ค. 2567 | 08:54 น.

"ดร.วีรชัย พุทธวงศ์" หรือ อาจารย์อ๊อด เตือน กินข้าวเก่า 10 ปี ตรวจสุขภาพด้วย เสี่ยงสารก่อมะเร็ง “อะฟลาท็อกซิน” หากได้รับปริมาณมาก ช่วงแรกไม่เป็นไร แต่ระยะต่อไปอาการออกแน่นอน แนะนำ หาข้าวสดใหม่กินดีที่สุด

จากกรณีที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พร้อทีมงานและสื่อมวลชน ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ เพื่อตรวจโกดังข้าวเก่า 10 ปีในโครงการรับจำนำข้าว และหุงกินเพื่อพิสูจน์ว่ายังสามารถกินได้นั้น

ล่าสุด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อ.อ๊อด กล่าวกับ 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่า ในการเก็บข้าวสารนั้น ปกติแล้วเกษตรกรจะมีการฉีดยาฆ่าแมลงเป็นประจำ เพื่อป้องกันมอด แมลง และหนู เข้ามากัดกินข้าวสาร 

โดยสารเคมีที่นิยมให้ในยาฆ่าแมลงกัน ได้แก่ เมธิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) , อลูมิเนียมฟอสไฟด์ (Aluminium phosphide) หรือ ฟอสฟีน ซึ่งมีสารตกค้างน้อย ได้รับการพิสูจน์แล้ว ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ไม่น่ามีอันตรายใด ๆ

 

ทั้งนี้ หากมีการเก็บรักษาข้าวไม่ดี เสี่ยงที่จะเกิดเชื้อรา ที่ก่อให้เกิดสาร “อะฟลาท็อกซิน” ซึ่งมีความอันตรายต่อร่างกายได้ เพราะเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งที่ คุณลักษณะ คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มองไม่เห็น ถ้าอยู่ในข้าว สี หรือ กลิ่น ของข้าวจะเปลี่ยนไป หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก จะไม่มีอาการในระยะแรก แต่จะมีอาการในระยะท้าย

ดังนั้น แนะนำหากรับประทานข้าว ควรเป็นข้าวที่สดใหม่ มีระยะเวลาเก็บที่เหมาะสม แต่ก็ยืนยันว่า ไม่ได้ต้อต้าน หรือขัดแย้งกับใคร แต่ก็ขอเตือนให้ผู้ที่กินข้าวเก่าเปลี่ยนสีไปแล้ว อย่าลืมไปตรวจสุขภาพด้วย และถ้าข้าวมีกลิ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเชื้อรา 

ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลรอบคอบ ตรวจสอบข้าวทุกกระสอบหากจะนำไปขาย เพราะข้าวเป็นอาหารที่สำคัญ โดยต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่ามันคุ้มหรือไม่ กับต้นทุกที่จะแลกมา รวมถึงความมั่นใจจากผู้ที่จะมาซื้อไปด้วย

ขณะเดียวกัน อ.อ๊อด ยังได้โพสต์ เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนี้ โดยระบุว่า 

“องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง”

สารอะฟลาท็อกซินมักพบได้ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปและเก็บอย่างไม่เหมาะสม ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง
  • ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง
  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • มันสำปะหลัง
  • ผักและผลไม้อบแห้ง
  • ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ
  • มะพร้าวแห้ง
  • หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา