นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ 2567 ทั้ง 5 มาตรการใหญ่ ประกอบด้วย
การที่รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะการกระตุ้นกำลังซื้อภาคอสังหาฯ ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับล่าง จะทำให้อสังหาฯ ที่มีอยู่คงค้างในตลาดสามารถระบายออกไปได้ และนำไปสู่การขยายสร้างโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะเป็นการสนับสนุนให้คนที่มีรายได้น้อยจนถึงปานกลางมีโอกาสเข้าถึงการซื้อบ้านหลังแรก
ซึ่งจะช่วยสร้างความเท่าเทียมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาถึงการขยายการลดค่าจดทะเบียนโอน ไม่เกิน 7 ล้านบาท และค่าจดทะเบียนจดจำนอง วงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้าน เหลือ 0.01% ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองหรือตามต่างจังหวัด รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวเป็นหลัก จากการที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มนี้จะทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อบ้านได้เร็วขึ้นด้วย
“ทางภาคเอกชนต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้ตอบรับข้อเสนอของภาคเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤตโควิด-19 จะเห็นภาพของการ over supply ของอสังหาฯ ทำให้ปัจจุบันส่วนหนึ่งของภาคอสังหาฯ ไม่ได้มีการขับเคลื่อนสร้างโครงการใหม่ ๆ ออกมา ทำให้ธุรกิจอื่น ๆ ใน Value Chains ที่เกี่ยวข้องซบเซาตามไปด้วย” นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้ หอการค้าฯ เชื่อว่า จากมาตรการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมได้ เพราะภาคอสังหาฯ ถือเป็น sector ที่ชี้นำเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่ และส่งเสริมให้ผู้มีรายได้ปานกลางมีบ้านอยู่อาศัย ซึ่งจะมีส่วนเสริมกับมาตรการอื่น ๆ ของรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ ยังอยากเห็นมาตรการสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) โดยเฉพาะการพิจารณาเพิ่มเติมหรือขยายสิทธิประโยชน์ BOI รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการเข้ามาอยู่อาศัยและครอบครองอสังหาฯ ของชาวต่างชาติที่ขยายเวลานานขึ้นกว่าเดิม เพื่อจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และต่างชาติที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนนี้จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข่งขันได้ในอนาคต