“เศรษฐา” จี้ “ก.ล.ต.-ตลท.” สางคดีปั่นหุ้น เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน

09 เม.ย. 2567 | 03:38 น.

"ปลัดกระทรวงการคลัง" เผยนายกฯเศรษฐา สั่ง “ก.ล.ต.-ตลท.” เร่งสางคดีปั่นหุ้น เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน กำชับดึงบริษัทมีคุณภาพเข้ามาจดทะเบียน วางกติกาการเทรดในโลกดิจิทัล

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยากเห็นสองหน่วยงานดังกล่าว เร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นด่านหน้าสำหรับการลงทุน กรณีเกิดการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ ซึ่งที่ผ่านมา ได้เกิดขึ้นในหลายกรณี แต่การนำคนผิดมาลงโทษยังมีความล่าช้ามาก

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายในเรื่องดังกล่าว ให้เร่งนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ และต้องโปร่งใส่ ผิดก็ต้องลงโทษ และต้องรู้วันจบ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาสินค้าใหม่และดีๆ เข้ามาในจดทะเบียน เพื่อรองรับการเป็นดิจิทัลฮับในภูมิภาค รวมทั้งการวางกติกาใหม่สำหรับการเทรดในโลกดิจิทัลด้วย

“นอกเหนือจากแผนพัฒนาตลาดทุนที่ตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต. ต้องดำเนินการแล้ว สิ่งสำคัญ คือ trust and confident ที่ผ่านมา เรามีหลายกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า บริหารจัดการไม่ดีเลย อันนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นหาย นักลงทุนก็ไม่อยากมาอยู่ตลาด เพราะมีคำถามว่า คุณกำกับด้วยอะไร ทำไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ เพราะฉะนั้น หลักสำคัญเรื่องนี้ คือ ที่สุด”

นายลวรณ กล่าวว่า เมื่อเกิดกรณีคนทำผิด ทางหน่วยงานดังกล่าวจะต้องลงโทษให้เร็ว และบทลงโทษต้องเหมาะสม ไม่ใช่การเพิกเฉย เมื่อนักลงทุนต่างชาติเห็น เขาก็ไม่อยากเข้ามาลงทุนในบ้านเรา เพราะเจ้ามือโกง ก็ไปลงทุนที่อื่นดีกว่า 

“ทุกวันนี้ นักลงทุนเขาสามารถเทรดที่ใดก็ได้ในโลก โดยเฉพาะเมื่อผลตอบแทนที่อื่นดีกว่า เงินก็จะไหลออก และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความไม่เชื่อมั่น ก็ยิ่งซ้ำเติมให้สภาพคล่องในตลาดหายไป ถ้าแก้ได้เร็ว ก็เชื่อว่า วันหนึ่งนักลงทุนจะกลับมา”

นอกจากนี้ ในเรื่องของการสร้างสินค้าใหม่ในตลาด ที่ผ่านมา หุ้นไอพีโอที่เข้ามาเทรดในตลาดนั้น ราคาปรับลดลงทันทีที่เปิดการซื้อขาย คำถามคือ เจ้าของธุรกิจกับที่ปรึกษาทางการเงิน และรวมถึง ตลาดหลักทรัพย์นั้น พิจารณราคาขายออกมาได้บนสมมติฐานอะไร เพราะเห็นได้ว่า ราคาที่ออกมาขายนั้น ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริงเลย

“หุ้นไอพีโอ 10 ตัวหลัง ราคาร่วงระเนระนาด ถามว่า เจ้าของกับคนที่ปรึกษาการเงิน underwriter ราคานี้ได้อย่างไร ตลาดก็อนุมัติ ฉะนั้น ต่อไป ใครจะเข้ามาเทรด กระบวนการ underwriter มันต้องมีอะไรที่ราคามันไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง อย่างหุ้นนางงาม ราคาขึ้นไปสูงขนาดนั้นได้อย่างไร”

ทั้งนี้ ปัญหาที่เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยนั้น นอกเหนือจากความเชื่อมั่นที่ลดลงแล้ว ยังมีเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนที่ต่างประเทศมีผลตอบแทนที่สูงกว่าอีกด้วย โดยขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยของไทยกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐมีช่วงห่างกันถึง 4% ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เงินลงทุนจะไหลไปยังผลตอบแทนที่ดีกว่า