คลัง ชงครม.ไฟเขียว “มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์” 2567

08 เม.ย. 2567 | 22:57 น.

การประชุม ครม. วันนี้ กระทรวงการคลัง เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ปรับเงื่อนไขใหม่ช่วยคนอยากมีบ้าน

วันนี้ (9 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีวาระที่น่าสนใจ โดยกระทรวงการคลัง เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) เสนอเข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ

สาระสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ นั้น จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง และเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการปรับปรุงมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม และมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาฯ

เบื้องต้นกระทรวงการคลังได้ปรับปรุงมาตรการเดิมเกี่ยวกับการลดค่าจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม รวมทั้งการโอนและค่าจดจำนองให้กับอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยจะเพิ่มเป็นราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ให้สอดคล้องสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ที่เหลือขายสะสมอยู่ในตลาดที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46% ของอยู่อาศัยเหลือขายในตลาด ส่วนอยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 86%

ภายใต้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ครั้งนี้ จะมีการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จากปกติ 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน จากปกติ 1% เหลือ 0.01% เพื่อสร้างแรงจูงใจในตลาดอสังหาฯ มากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า มาตรการนี้ จะช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาฯ มูลค่าประมาณ 799,374 ล้านบาทต่อปี ช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศได้กว่า 118,413 ล้านบาทต่อปี เพิ่มการลงทุนได้ประมาณ 464,971 ล้านบาทต่อปี และผลักดันให้ GDP เพิ่มขึ้น 1.58% ต่อปี ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสูญเสียรายได้จากค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ ประมาณ 23,822 ล้านบาทต่อปี 

พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างบ้าน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลธรรมดาที่มีการสร้างบ้าน แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าก่อสร้างบ้าน เมื่อได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านกับผู้รับเหมาทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และต้องเริ่มก่อสร้างบ้านในหรือหลังวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568 

โดยมูลค่าการหักลดหย่อนให้เป็นไปตามมูลค่าการก่อสร้างบ้าน 1 ล้านบาท จะหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านที่เสียอากรแสตมป์ด้วยวิธีการชำระอากรเป็นเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกับกรมสรรพากร คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 5,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมครม.เสร็จสิ้น ในเวลาประมาณ 14.30 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมแถลงข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) ด้วย