ปี69 เปิดหวูด "รถตรวจสภาพทาง" บูมรถไฟทางเดิม-ทางคู่

03 เม.ย. 2567 | 04:12 น.

บอร์ด รฟท. ไฟเขียวจัดซื้อรถตรวจสภาพทาง 1 คัน วงเงิน 279 ล้านบาท ลุยเพิ่มประสิทธิภาพรถไฟทางเดิม-รถไฟทางคู่ คาดได้รถภายในเดือนเม.ย. 69

KEY

POINTS

  • บอร์ด รฟท. ไฟเขียวจัดซื้อรถตรวจสภาพทาง 1 คัน วงเงิน 279 ล้านบาท
  • ลุยเพิ่มประสิทธิภาพรถไฟทางเดิม-รถไฟทางคู่ คาดได้รถภายในเดือนเม.ย. 69 

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย( รฟท.) เร่งรัดก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าทั่วประเทศมีรถตรวจสภาพทางเพียง 2 คันเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นรถที่มีสภาพเก่าและใช้งานมานานหลายปี ส่งผลให้รฟท.เร่งจัดซื้อรถตรวจสภาพทางคันใหม่ เพื่ออัพเกรดการตรวจทางในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นายนิรุฒ  มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติอนุมัติขออนุมัติซื้องานจัดหารถตรวจสภาพทาง จำนวน 1 คัน วงเงิน 279 ล้านบาท จากบริษัท บรอดแคส ดีพอท (ไทยแลนด์) จำกัด โดยวิธีคัดเลือกตามมาตรา 56 (1) (ข) พัสดุที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างมีคุณลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษ หรือซับซ้อน หรือต้องผลิต จำหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการโดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะหรือมีความชำนาญเป็นพิเศษหรือมีทักษะสูง และผู้ประกอบการนั้นมีจำนวนจำกัด ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 750 วัน เนื่องจากเป็นการสั่งผลิตรถจากประเทศจีน ขณะที่เครื่องมือต่างๆ ภายในรถจะถูกผลิตในสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะได้รถตรวจสภาพทางภายในเดือนเมษายน 2569 

 

ที่ผ่านมาฝ่ายการช่างโยธาของรฟท.ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงทุน 280 ล้านบาท เพื่อจัดหารถตรวจสภาพทาง จำนวน 1 คัน โดยกองเครื่องกลบำรุงทางหนัก ศูนย์การผลิตและซ่อมบำรุง ฝ่ายการช่างโยธาตามแผนงานปรับปรุงประสิทธิภาพในการซ่อมบำรุง ซึ่งที่ประชุมบอร์ดรฟท.มีมติเห็นชอบงบลงทุนประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 ให้ดำเนินโครงการต่อไป
 

ปัจจุบันฝ่ายการช่างโยธามีรถตรวจสภาพทาง จำนวน 2 คัน ประกอบด้วย รถ ตท.1(EM.80) และ รถ ตท.2(EM.120) ใช้ในการตรวจสภาพทาง โดยรถ ตท.1(EM.80) ซึ่งประจำการมาตั้งแต่ปี 2526 ขณะนี้มีสภาพชำรุดคงเหลือรถตรวจสภาพทาง ตท.2(EM.120) ซึ่งประจำการมาตั้งแต่ปี 2557 ใช้งานเพียงคันเดียว 

 

“ขณะนี้รถตรวจสภาพทางสามารถตรวจสภาพทางตลอดทางทุกสาย ได้เฉลี่ยปีละ 1.5-2 รอบ เป็นความยาวของระยะทาง 9,686 กิโลเมตร (กม.) โดยตามเป้าหมายต้องตรวจสภาพทางทุกๆ 3 เดือน หรือ ปีละ 4 รอบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขสภาพทางเสียและใช้ในการวางแผนซ่อมบำรุงทางให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นรถตรวจสภาพทางที่มีอยู่ 1 คัน จึงไม่เพียงพอต่อการใช้งานตรวจสภาพทางรถไฟ จึงจำเป็นต้องมีการจัดหารถตรวจสภาพทางเพิ่มเติม จำนวน 1 คัน เพื่อทดแทนรถ ตท.1(EM.80) ที่ชำรุด เพื่อใช้ในการตรวจสภาพรถไฟทางเดิมและรถไฟทางคู่ ให้เป็นไปตามแผนการตรวจสภาพทางประจำปี” 

 

นอกจากนี้รฟท.มีแผนการตรวจสภาพทางของรถตรวจสภาพทางตท.2(EM.120) ประจำปี 2567-2571 ซึ่งรถที่ตรวจสภาพทางเก่าจะต้องมีประสิทธิภาพ 70% และในปี 2570 จะดำเนินการซ่อมรถ ตท.2 (รถเก่า) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรถ โดยรถตรวจสภาพทาง 2 คัน สามารถรองรับการตรวจสภาพทางคู่ระยะที่ 1 และทางคู่สายใหม่ เด่นชัย - เชียงราย – เชียงของและทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม 
 

ทั้งนี้ในอนาคต รฟท.ได้วางแผนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่และทางรถไฟสายใหม่ ปัจจุบันฝ่ายการช่างโยธาดูแลรับผิดชอบทางประธานความยาว 4,843 กิโลเมตร (กม.) และทางหลีกความยาว 726 กิโลเมตร (กม.)  โดยในปี 2567 จะมีทางคู่เพิ่ม 772 กิโลเมตร (กม.) รวมความยาวทางประธานเป็น 5,615 กิโลเมตร (กม.) หากสามารถจัดซื้อรถตรวจสภาพทางคันใหม่พร้อมใช้งานได้จะช่วยประหยัดเวลาในการตรวจทางรถไฟในอนาคตได้มากขึ้น

 

สำหรับรถตรวจสภาพทาง (TRACK GEOMETRY VEHICLE) ประกอบด้วย 1.ห้องควบคุมและห้องคนขับ CAB 1-2 2. ห้องวิเคราะห์ข้อมูล 3. ห้องเครื่องยนต์ 4. ห้องประชุม โดยรถ 1 คันมีผู้ควบคุม จำนวน 3 คน ส่วนระบบการตรวจวัดสภาพทาง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งความเร็วและระบบการถ่ายโอนข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งระบุพิกัด GPS สภาพทางรถไฟที่เสีย โดยใช้ลำแสงเลเซอร์ยิงในการตรวจวัดสภาพทาง ทั้งนี้ประสิทธิภาพของรถรุ่นนี้สามารถตรวจแนวราง,หน้าตัดของราง รวมทั้งองค์ประกอบความสมบูรณ์ของทาง ซึ่งสามารถตรวจสภาพรางได้ 700 กิโลเมตร (กม.) ต่อเดือน เร็วกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับการตรวจสภาพรางโดยใช้คนที่สามารถตรวจสภาพรางได้เพียง 240 กิโลเมตร (กม.) ต่อเดือน