“สุริยะ” ดันระบบขนส่งราง เร่งรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้ากทม. 554 กม.

24 ม.ค. 2567 | 07:21 น.

“สุริยะ” เปิดสัมมนาเดินหน้า 72 บิ๊กโปรเจ็กต์คมนาคม หนุนระบบขนส่งทางราง ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ภายใน 5-6 ปี เร่งรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 554 กม.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน ปี 2567-2568 ว่า การสัมมนาในครั้งนี้ได้จัดทำ Action Plan ทุกหน่วยงานจะได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นตลอดช่วงเวลาของการ Workshop โดยผลักดันนโยบาย Quick Win 2567-2568 พบว่ามีโครงการสำคัญ 72 โครงการ 

“สุริยะ” ดันระบบขนส่งราง เร่งรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้ากทม. 554 กม.

นอกจากนี้กระทรวงได้เร่งรัดทุกหน่วยงานพิจารณานโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 1. นโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 2. บูรณาการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับเส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับจีนตอนใต้ (รถไฟไทย - สปป.ลาว - จีน) โครงการ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ 3. ให้ความสำคัญกับโครงการแลนด์บริดจ์ เปิดประตูการค้าสองฝั่งสมุทรทางภาคใต้

“ตลอดช่วงเวลากว่า 3 เดือน ที่ผมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมทั้ง 2 ท่านเข้ามาปฏิบัติงานที่กระทรวงคมนาคม พวกเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากทุกท่าน ผมจึงมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าผลที่ได้จากการ Workshop ในครั้งนี้ จะนำไปสู่ Action Plan ที่มีประสิทธิภาพและผลักดันให้นโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ” 

“สุริยะ” ดันระบบขนส่งราง เร่งรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้ากทม. 554 กม.

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันหลายประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่ามีต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์คิดเป็น 9.5-9.8 % ของจีดีพี ขณะที่ไทยมีต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์คิดเป็น 11-12 % ของจีดีพี  ซึ่งถือว่าไทยมีปริมาณต้นทุนที่สูง เนื่องจากไทยใช้ระบบถนนเป็นหลัก หากสามารถหันไปใช้ระบบขนส่งทางรางได้ จะช่วยลดต้นทุนขนส่งโลจิสติกส์ได้มากขึ้น เบื้องต้นได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันการใช้ระบบขนส่งทางรางเพื่อลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ ภายใน 5-6 ปี โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 และระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะทาง 554 กม.

สำหรับการสัมมนาฯ ในวันนี้ มีความคาดหวังอยากให้ทุกหน่วยงานได้เร่งรัดและบูรณาการโครงการที่จะดำเนินงานในปี 2567 รวมทั้งร่วมกันพิจารณากำหนดโครงการใหม่ที่จะดำเนินการในปี 2568 ตามภารกิจและโหมดการขนส่งในทุกมิติ และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานได้นำเสนอกรอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการลงทุน แยกตามแหล่งเงิน ประโยชน์ที่จะประชาชนจะได้รับ และแผนการดำเนินการตั้งแต่เริ่มจนก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อนำภาพผลงานที่ได้ดำเนินงานไปแล้วในช่วง 99 วันที่ผ่านมา มารวมกับผลลัพธ์จากการทำ Workshop ในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงทิศทางการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในอนาคต ซึ่งสามารถจับต้องได้และสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม 

“สุริยะ” ดันระบบขนส่งราง เร่งรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้ากทม. 554 กม.