ยอดขอใบ "ร.ง.4" พุ่ง 3.56 แสนล้าน ชี้อุตฯอาหาร-เครื่องใช้ไฟฟ้า-โลหะแรง

25 มี.ค. 2567 | 01:25 น.

ยอดขอใบ "ร.ง.4" พุ่ง 3.56 แสนล้าน ชี้อุตฯอาหาร-เครื่องใช้ไฟฟ้า-โลหะแรง กรอ.ออกโรงยันการขอใบอนุญาาติยังมีความคล่องตัว ระบุอยู่ระหว่างการดำเนินการแค่ 50 ใบ อีกส่วนต้องรออนุญาตจากหน่วยงานกำกับด้านไฟฟ้าและป่าไม้

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รายงานตัวเลขยอดใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ปี 2566 พบว่า มีการเติบโตดี ทั้งยอดขอตั้งโรงงานใหม่รวมยอดขอขยายกิจการ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก 

โดยมีมูลค่าถึง 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.29% จากปี2565 มูลค่า 288,873 ล้านบาท จำนวนโรงงานตั้งใหม่และขยาย 2,598 โรง เกิดการจ้างงานใหม่ 106,631 คน จำนวนนี้แบ่งเป็นตั้งโรงงานใหม่ มูลค่า 263,202 จากโรงงาน 2,181 โรง จ้างงานใหม่ 65,138 คน 

และขยายกิจการมูลค่า 92,937 ล้านบาท จากโรงงาน 417 แห่ง จ้างงานใหม่ 106,631 คน สะท้อนว่าการลงทุนไทยกลับมาฟื้นตัวในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงปี 2567 ที่แนวโน้วเพิ่มขึ้น ช่วง2 เดือนแรกของปีการอนุมัติร.ง.4 ยังขยายตัว มูลค่าลงทุนเบื้องต้นกว่า 50,000 ล้านบาท โดย กรอ. อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลทางการต่อไป คาดว่าตลอดปีจะเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน
 

ทั้งนี้ กรอ.ยืนยันว่าการอนุมัติอนุญาตร.ง.4 ยังดำเนินการด้วยความคล่องตัว สะท้อนจากตัวเลขอนุญาตตั้งและขยายโรงงานที่เติบโตอย่างมากในปีที่ผ่านมาและแนวโน้มปีนี้ 

ส่วนกรณีเอกชนบางรายระบุร.ง.4 ล่าช้าจะเร่งแก้ปัญหา โดยล่าสุดเหลือประมาณ 50 รายเท่านั้น และอีกส่วนหนึ่งต้องรอการอนุญาตจากหน่วยงานกำกับด้านไฟฟ้าและป่าไม้ ตามกฎหมายที่กำหนด เพราะเป็นใบอนุญาตที่ภาครัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อดูแลประชาชน และอำนวยความสะดวกนักลงทุน

อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบข้อมูลการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการลงทุน 40,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.41% โดยการลงทุนโดดเด่นจากการตั้งโรงงานใหม่ คือ ผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ มูลค่าการลงทุน 8,600 ล้านบาท ผลพวงจากแนวโน้มการฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย การท่องเที่ยวที่มีทิศทางขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความต้องการจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มให้เพิ่มขึ้น
 

2.กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 39,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.76%  โดยการลงทุนโดดเด่นจากการตั้งโรงงานใหม่ คือ การผลิต ประกอบ หรือดัดแปลง เครื่องมือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มูลค่าการลงทุน 1,832 ล้านบาท เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสำหรับการส่งออกซึ่งมีปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลมูลค่าการส่งออกสินค้าจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)

และ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ มีมูลค่าการลงทุน 24,012 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.84% โดยการลงทุนโดดเด่นจากการตั้งโรงงานใหม่ คือ การผลิตกระป้องอลูมิเนียม และขวดอลูมิเนียม มูลค่าการลงทุน 5,237 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร