ทุนน้ำเมาเฮ! ปลดล็อก ร่างพ.ร.บ. แอลกอฮอล์ฯ หนุนท่องเที่ยว ไทยต้องไม่ล้าหลัง

16 มี.ค. 2567 | 08:37 น.

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หนุนรัฐบาลเศรษฐา ปลดล็อกกฎหมายน้ำเมา ชง 8 ข้อเสนอประกบร่าง พ.ร.บ. ควบคุมแอลกอฮอล์ฯ ฉบับใหม่ ย้ำ “ล้าหลัง-ตกยุค-ถ่วงเศรษฐกิจ” ต้องปรับเปลี่ยน แนะนำร่องสงกรานต์ เป็นโมเดลทดลอง

KEY

POINTS

  • การพิจารณาแก้ พ.ร.บ. แอลกอฮอล์ควรอยู่ในเรื่องเร่งด่วน
  • สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย แนะปลดล็อกช่วง 14.00 - 17.00 น. นำร่องช่วงสงกรานต์
  • การปลดล็อกดื่มแอลกอฮอล์ ในสนามกีฬา-คอนเสิร์ต-โรงแรม-ใกล้สถานศึกษา ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

หลังที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 มีมติอนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ แต่ยังมีข้อสั่งการจากนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่ให้ไปดูในรายละเอียดถึงความสมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพและมิติด้านเศรษฐกิจ ล่าสุดที่ประชุม ครม. (12 มีนาคม 2567) มีมติไฟเขียวข้อเสนอเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 8 ข้อ ประกบ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ประกอบไปด้วย

ทุนน้ำเมาเฮ! ปลดล็อก ร่างพ.ร.บ. แอลกอฮอล์ฯ หนุนท่องเที่ยว ไทยต้องไม่ล้าหลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บอร์ดแอลกอฮอล์ฯ เคาะศึกษา “ขยายเวลาขายเหล้า-เบียร์” ขีดเส้นเสร็จใน 3 เดือน https://www.thansettakij.com/business/590586

  1. การยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น.
  2. การอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม หรือสถานบริการที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา
  3. การอนุญาตให้ขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมที่จัดขึ้นในสถานที่ของทางราชการที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมควบคุมโรค เพิ่มเติมจากบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร เช่น งานแสดงดนตรี ที่จัดขึ้นในสนามกีฬาของทางราชการ เป็นต้น
  4. ผู้มีอำนาจในการกำหนดวันและเวลาห้ามขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กำหนดเป็นอำนาจของรัฐมนตรีผู้รักษาการ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้)
  5. การแก้ไขผู้รักษาการตามกฎหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  6. การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดออนไลน์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกรณีที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
  7. การกำหนดรายละเอียดข้อความที่ระบุบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องไม่มีข้อความในลักษณะที่เชิญชวนให้บริโภค
  8. การยกเลิกการควบคุมวิธีการหรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น การใช้เครื่องขายอัตโนมัติ การเร่ขาย การลดราคา เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย และการเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงรางวัล หรือประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (Thai Alcohol Beverage Business Association : TABBA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า 8 ข้อเสนอที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นำเสนอควบคู่ไปกับร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่นั้น มองว่า ประเด็นเรื่องของคุมประกาศของคณะปฏิวัติปรับเวลาขายแอลกอฮอล์ ปลดล็อกช่วง 14.00 - 17.00 น. นั้น สามารถเริ่มทำได้ก่อนเพราะถือเป็นกฎหมายที่ล้าหลังไม่สมเหตุสมผลควรผ่านเป็น พ.ร.บ. ฉบับใหม่นำร่องช่วงสงกรานต์เนื่องจากเป็นเทศกาลที่รัฐบาลปลุกปั้นให้เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ดึงดูดนักท่องเที่ยว

อีกทั้งในเรื่องมาตรการควบคุมสถานที่ห้ามขาย-ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, มาตรการควบคุมวัน และเวลาที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, มาตรการควบคุมวิธีการหรือลักษณะการขายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการควบคุมการโฆษณา ถือเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการที่ถ่วงการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

“ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักคือการนำเข้าส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันการนำเข้าส่งออกชะลอตัว ส่งผลให้การท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานบันเทิง การดื่ม กิน คือปัจจัยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว รัฐบาลควรมีการทบทวนยกเลิกเพิกถอน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ เนื่องจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เคยกล่าวถึงการถึงการสร้างสมดุลการท่องเที่ยวทุกมิติ ดังนั้นเรื่องของการพิจารณาแก้ พ.ร.บ. แอลกอฮอล์ควรอยู่ในเรื่องเร่งด่วนด้วยเช่นกัน”

นายธนากร แสดงความคิดเห็นอีกว่า เห็นด้วยถ้ามีการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ตกยุคไปแล้ว รื้อมาพิจารณาใหม่ และตัวกฎหมายเป็นประกาศและคำสั่งที่สามารถเพิกถอนได้ เช่น กฎหมายฉลาก ซึ่งสามารถเพิกถอนได้เลยและข้อที่ว่าด้วย การประกาศการขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (ขายออนไลน์) หากรัฐบาลมองว่าสามารถแก้ไขได้ ก็ทำได้เลยเช่นกัน

“ข้อกฎหมายที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ถือเป็นความเสี่ยง จะทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่ศักดิ์สิทธิ์ อย่างการห้ามจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ กฎหมายอ้างเหตุผลเรื่องการควบคุมได้ยาก ควบคุมผู้ซื้อ ผู้ขายไม่ได้ แต่ในมุมกลับกันนั้นการซื้อขายออนไลน์ สามารถควบคุมได้ง่ายถ้ามีระบบควบคุมอย่างชัดเจน และเรื่องของการปลดล็อกดื่มแอลกอฮอล์ ในสนามกีฬา-คอนเสิร์ต-โรงแรม-ใกล้สถานศึกษา ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจะส่งผลดีต่อการจ้างงาน การท่องเที่ยวที่สอดรับกับอีเวนต์ใหญ่ ๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในมุมกว้างต่อไป”

ถ้า พ.ร.บ. ดังกล่าวได้รับการแก้ไข ย่อมมี “แรงต้าน” ในเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงโรคภัยที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ซึ่งปัญหาดังกล่าว นายธนากร ชี้แนะว่า รัฐบาลควรจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนเรื่องการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบอย่างจริงจัง เพิ่มไปยังหลักสูตรการศึกษาเช่นเดียวกับเรื่องเพศศึกษาที่กล่าวถึงโทษต่อร่างกายและข้อกฎหมายบังคับต่าง ๆ

“แน่นอนว่าในมุมมองของคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงของอุตสาหกรรมน้ำเมาไม่ได้เพิกเฉยต่อโทษของแอลกอฮอล์แต่กำลังขับเคลื่อนสมดุลทางเศรษฐกิจ เรื่องการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ประเทศที่ไม่ได้มีข้อจำกัดจากทางด้านการควบคุมแบบประเทศไทยอย่าง เวียดนาม เกาหลี ที่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม แต่จะมีโทษของการดื่มอย่างไม่มีความรับผิดชอบให้เข้มข้นแทน ความมั่งคง สังคม เศรษฐกิจเป็น 3 ขา ที่ต้องสร้างสมดุล เรื่องความเสี่ยงต่างๆ แนะช่วงเทศกาลสงกรานต์นำร่อง และต้องใช้มาตรการอื่นเข้ามาเสริม โดยรัฐบาลต้องใช้มิติร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน”

อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่จะสามารถให้เกิดบรรลุเป้าหมายตามที่รัฐบาลได้คาดหวังไว้ ควรเร่งวิเคราะห์มาตรการ หรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคหรือไม่จำเป็นและปรับให้สอดคล้องกับบริบทของการท่องเที่ยวด้วย

“ใน 3-5 ปี ข้างหน้า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมสากล ไม่ใช่เป็นเรื่องของการผิดกฎหมาย อยากให้ทบทวนเรื่องของการดื่มอย่างเหมาะสม เรื่องของนวัตกรรมเริ่มมีการพัฒนาให้ดีขึ้น การบริโภคจะต้องปรับเปลี่ยนไปใช้การสังสรรค์อย่างพอเหมาะ อีก 3-5 ปีเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่อย่าสุดโต่งทุกอย่าง เพราะจะดันให้ไปอยู่ใต้ดิน จะควบคุมไม่ได้ อย่างเรื่องของการสร้าง “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์” ถือเป็นโมเดลที่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ในอนาคต รัฐบาลต้องมุ่งทำงานร่วมกันนำเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ถ้าไม่ทำตอนนี้จะสู้ประเทศพื้นบ้านไม่ได้” นายธนากรกล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,975 วันที่ 17 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2567