เศรษฐา สั่ง ปลดล็อคใบอนุญาต ดึงต่างชาติลงทุน "ยา-เวชภัณฑ์"

07 มี.ค. 2567 | 03:35 น.

นายกฯ เศรษฐา สั่งปลดล็อคระเบียบ ข้อกฎหมาย ใบอนุญาต ดึงเอกชนจากต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนประกอบการอุตสาหกรรม "ยา-เวชภัณฑ์" ในไทย หลังเจอทูตานุทูตหลายประเทศบี้ให้เร่งแก้ด่วน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ขณะนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เร่งปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการดึงเอกชนจากต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ประกอบการอุตสาหกรรม "ยา-เวชภัณฑ์" ในประเทศไทย

สำหรับการเร่งรัดการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจครั้งนี้ เป็นผลมาจากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเสนอว่า 

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 (เรื่อง การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ) มอบหมายให้คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวก ในการประกอบธุรกิจรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายและกฎระเบียบ รวมทั้งกระบวนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจให้แล้วเสร็จและเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นั้น 

ที่ผ่านมาได้รับการร้องขอให้เร่งรัดการดำเนินการในเรื่องนี้จากทูตานุทูตหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีเอกชนของต่างประเทศ จะเข้ามาร่วมลงทุนประกอบการอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ในประเทศไทย จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอแล้ว

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ระบุข้อมูลว่า ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 3-5% แบ่งเป็น การผลิตในประเทศ 30% และนำเข้า 70% ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมมีมูลค่าการตลาดที่สูง