ครม.ผ่านแล้ว “พรบ.น้ำเมา” ฉบับใหม่ แอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% ไม่เข้าเกณฑ์

03 มี.ค. 2567 | 10:29 น.

ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ของสาธารณสุข กำหนดแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% ไม่เข้าเกณฑ์ นายกฯ สั่งให้ไปดูมิติเศรษฐกิจควบคู่ ขีดเส้น 1 สัปดาห์สรุป

วันนี้ (3 มีนาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม โดยได้ขอให้ไปพิจารณาเนื้อหารายละเอียดเพิ่มเติมของร่างกฎหมาย เพราะต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เกิดสมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพ และมิติกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว มากขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ จึงมอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานไปตรวจสอบรายละเอียดว่า สิ่งที่การท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจ ความต้องการการค้า ต้องการการผ่อนปรนในด้านใดบ้าง จากนั้นจึงเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ และเมื่อ ครม.เห็นชอบอีกครั้งแล้ว ก็ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำไปประมวลก่อนส่งไปรัฐสภาตามขั้นตอนต่อไป

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 มีนาคม 2567

“ครม. เห็นด้วยในหลักการว่า พ.ร.บ.เดิม จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนายกฯ ได้สั่งการไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันที่ประชุมครม. ก็เห็นความสำคัญทางด้านสุขภาพ เรื่องความปลอดภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ ก็เรื่องสำคัญ ดังนั้นจึงขอให้ทบทวนสาระให้เกิดสมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพ และมิติกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวด้วย” นายชัย ระบุ

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ มีการกำหนดคำนิยามใหม่ ทั้ง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” “การสื่อสารการตลาด” และ “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เดิมกฎหมายไม่ได้ระบุว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ว่าไม่เกินเท่าไหร่ ทำให้อยู่ที่การตีความ ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงระบุชัดว่า หากแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% ไม่ถือว่า เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ยังเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น เพิ่มผู้แทนจากกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และให้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีที่รักษาการตาม พ.ร.บ. โดบกำหนดไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ขาย หรือสถานบริการ รวมทั้งเพิ่มโทษหากละเมิดดื่มในจุดที่ห้ามขาย จะมีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ 3 มีนาคม 2567


นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติรับทราบข้อสังเกต ข้อเสนอของร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....) จำนวน 3 ฉบับ นำไปประกอบกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สธ. เสนอ

สำหรับร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่      

  1. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ)
  2. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ)
  3. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะเป็นผู้เสนอ)(ครบกำหนดส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2567) 

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ 3 มีนาคม 2567

 

ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มีหลักการเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสมดุล แต่เนื่องจากรายละเอียดของการแก้ไขปรับปรุงยังคงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับระดับความเข้มงวดของการควบคุมและการผ่อนปรนมาตรการที่อาจยังไม่นำไปสู่ความสมดุลที่เหมาะสม รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกลไกการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละร่างฯ ยังคงมีความแตกต่างกันมาก 

โดยครม. มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รับประเด็นข้อเสนอแก้ไขตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สธ.เสนอ 

พร้อมกับการพิจารณาคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวมถึงประเด็นการปรับปรุงกลไกคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ มีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน โดยไม่สร้างอุปสรรคหรือภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินสมควร และทำให้ร่างกฎหมายได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อผลักดันร่างพระราบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป