โจทย์หินรัฐบาลเศรษฐา เข็นลงทุน รสก. 3.8 แสนล้าน ประคองเศรษฐกิจ

28 ก.พ. 2567 | 00:00 น.

โจทย์สำคัญวัดฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล “เศรษฐา” เข็นการลงทุน โค้งสุดท้ายปี 2567 หลังงบประมาณยังไม่คลอด ฝากความหวังการลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.8 แสนล้าน ช่วยประคองเศรษฐกิจ

การลงทุน” นับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย และยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศ เพื่อสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเองการลงทุนของไทยเองยังมีสัดส่วนที่ไม่สุงมาก ยิ่งเจอข้อจำกัดทางด้านการเมืองเปลี่ยนรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การลงทุนภาครัฐเกิดภาวะชะงักงัน และยังไม่สามารถขับเคลื่อนออกมาได้ดังใจหวัง

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินภาพรวมทั้งปี 2567 การลงทุนรวมจะค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวอยู่ที่ 2.5% ขยายตัวดีขึ้นจากอยู่ที่ 1.2% เมื่อปี 2566 โดยการลงทุนภาครัฐจะหดตัวลดลงจากปี 2566 ซึ่งติดลบถึง 4.6% ฟื้นขึ้นมาที่ติดลบ 1.8% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงอยู่ในทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2566 เป็น 3.5% ในปี 2567 นี้

โดยในปี 2566 มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี และขยายตัวในเกณฑ์สูงจากปีก่อน 43.4% เช่นเดียวกับยอดอนุมัติและยอดออกบัตรส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่า 7.5 แสนล้านบาท และ 4.9 แสนล้านบาท ตามลำดับ 

 

ภาพประกอบข่าว แนวโน้มการลงทุนไทย ปี 2567 ข้อมูลจาก สศช.

ภายใต้การเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน อนุมัติ และออกบัตรส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งทิศทางการเริ่มกลับมา ขยายตัวของการส่งออกและการนำเข้าสินค้า ตามแนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นของปริมาณการค้าโลก ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นภายหลังจากที่ชะลอลงในปี 2566 

โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวรวมกันอยู่ที่ 403,489 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 76.3% ของมูลค่าโครงการต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566

 

ภาพประกอบข่าว แนวโน้มการลงทุนไทย ปี 2567 ข้อมูลจาก สศช.

ล่าสุดข้อมูลจากกองงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ สศช. ยังชี้ให้เห็นถึงกรอบและวงเงินเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งนับรวมวงเงินเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และบริษัทในเครือ 5 แห่ง ได้แก่

  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด
  • บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 

โดยในปี 2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 380,141.92 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.9% และต่ำกว่ากรอบวงเงินเบิกจ่าย ลงทุนของรัฐวิสาหกิจเฉลี่ยในปี 2563 - 2566 ที่ปีละ 396,137.58 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 4%

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาผลการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 ในภาพรวมมีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 94,525.5 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2.1% โดยเป็นการเบิกจ่ายจากวงเงินเบิกจ่ายลงทุนใน 14 โครงการลงทุนสำคัญ จำนวน 21,595.47 ล้านบาท และมีอัตราการเบิกจ่าย 28.6% ของกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในโครงการลงทุนสำคัญของรัฐวิสาหกิจในปี 2567

ดังนั้น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะช่วยรักษาแรงขับเคลื่อนจากการลงทุน ภาครัฐและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งการลงทุนภาครัฐมีข้อจำกัดจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณ รายจ่ายประจำปีที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาอนุมัติและคาดว่าจะประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในเดือนพฤษภาคม 2567

 

ภาพประกอบข่าว แนวโน้มการลงทุนไทย ปี 2567 ข้อมูลจาก สศช.

 

อย่างไรก็ตาม สศช. มีข้อเสนอแนะว่า ในช่วงนับจากนี้ ควรเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 - 2566 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดอนุมัติโครงการที่ได้ เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า

รวมทั้งการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสามารถเริ่มประกอบกิจการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิต การจ้างงาน และการลงทุนใหม่ 

นอกจากนี้ ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย