ด่วน GDP ไตรมาส 4/2566 โตแค่ 1.7% สศช.หั่นทั้งปีเหลือ 1.9%

19 ก.พ. 2567 | 02:40 น.

สศช. แถลงตัวเลข GDP ไทยในช่วงไตรมาส 4/2566 ขยายตัวได้แค่ 1.7% ส่งผลให้ทั้งปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวแค่ 1.9% ส่วนแนวโน้มในปี 2567 หั่นเป้าหมายใหม่ คาดเศรษฐกิจไทย โตแค่ 2.7%

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวแค่ 1.7%

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลง 3% ต่อเนื่องจากการลดลง 5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 14.1% และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง 8% 

เช่นเดียวกับการลงทุนรวม ปรับตัวลดลง 0.4% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนภาครัฐที่ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ติดลบ 20.1% ต่อเนื่องจากการลดลง 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า 

ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดลบ 2.4% เทียบกับการลดลง 4.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของกลุ่มการผลิตที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง 30 - 60% และกลุ่มการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่า 60%) เป็นสำคัญ

ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูง 7.4% ต่อเนื่องจาก 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 68,822 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ 4.6%

ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทาง เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 8.095 ล้านคน เพิ่มขึ้น 49.1% ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ 2.77 แสนล้านบาท ขยายตัว 34.8% เทียบกับการขยายตัว 76.8% ในไตรมาสก่อนหน้า

ด่วน GDP ไตรมาส 4/2566 โตแค่ 1.7% สศช.หั่นทั้งปีเหลือ 1.9%

 

เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 1.9%

ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 1.9% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง 7.1% เร่งขึ้นจาก 6.2% ในปี 2565 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการ ขยายตัว 3.2% และ 38.3% ชะลอลงจาก 4.7% และ 59.9% ในปี 2565 ตามลำดับ 

ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลง 1.7% เทียบกับการขยายตัว 5.4% ในปี 2565 และการลงทุนภาครัฐลดลง 4.6% เทียบกับการลดลง 3.9% ในปี 2565 

รวมทั้งปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท (5.13 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) เพิ่มขึ้นจาก 17.4 ล้านล้านบาท (4.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2565 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 255,867.7 บาทต่อคนต่อปี (7,331.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 248,788.6 บาทต่อคนต่อปี (7,094.1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี) ในปี 2565 

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.3% ของ GDP
 

 

ด่วน GDP ไตรมาส 4/2566 โตแค่ 1.7% สศช.หั่นทั้งปีเหลือ 1.9%

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดขยายตัว 2.7%

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2 - 3.2% หรือขยายตัวเฉลี่ย 2.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2 - 3.2% หรือขยายตัวเฉลี่ย 2.7% มาจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้ง การกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.0% และ 3.5% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9 – 1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP
 

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดประกอบด้วย ติดตามการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยเป็นผลจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป 

รวมทั้งติดตามสัดส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้ภาคเกษตร

เช่นเดียวกับติดตามผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร สภาวะเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และเกาะติดความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค และ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดขยายตัว 2.7% สศช.