กู้เงินเพื่อแจก “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ส่อแท้ง

21 ม.ค. 2567 | 14:48 น.

"กรณ์ จาติกวณิช" อดีต รมว.คลัง แสดงความคิดเห็น กู้เงินเพื่อแจก “เงินดิจิทัล10,000 บาท” คงไม่เกิดขึ้น แม้รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าต่อก็ตาม

วันที่ 21 มกราคม 2567 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ออกมาเเสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij กรณีการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยว่าระบุว่า การกู้เงินมาเพื่อ แจกเงินดิจิทัล10,000บาท คงไม่เกิดขึ้นเเล้ว แม้ว่าทางรัฐบาลซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทยยังคงระบุว่าจะเดินหน้าต่อก็ตาม

อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยประกาศออกมาก่อนการเลือกตั้ง ด้วยหลากหลายเหตุผลที่ไม่ต่างกับผู้ที่ออกมาคัดค้าน โดยได้ขยายความว่า ในแง่การเมืองซึ่งก็คือการหาเสียงในลักษณะนี้มีแต่จะทำให้การเมืองแย่ลง แง่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการใช้เงินกู้ที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และแง่กฎหมายรัฐธรรมนูญและ พรบ.วินัยทางการคลัง ชัดเจนมากว่าทำไม่ได้

"ผมถอยจากการเมืองมาแล้วก็ไม่อยากออกตัวมาก แต่บางเรื่องที่ผมถือว่าพอมีความรู้และประสบการณ์ และเป็นเรื่องที่มีผลใหญ่หลวงกับบ้านเมือง ผมมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมจึงขอแสดงออก ผิดถูกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจเองอยู่ดี"

นายกรณ์ สรุปว่า หลังจากที่ได้อ่านความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้สรุปได้ว่าประเด็นสำคัญที่สุดคือ ผลสรุปว่า สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่อยู่ในเกณฑ์วิกฤต เมื่อไม่วิกฤตก็ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 53 พรบ.วินัยทางการคลัง ที่จะออกกฎหมายกู้เงินแบบนอกงบประมาณ ดังนั้นเมื่อ  ป.ป.ช. สรุปตามนี้ หากรัฐบาลเดินหน้าต่อไปจะเสี่ยงมาก

"พรรคเพื่อไทยอาจจะยังกล้าเดินหน้า แต่ผมไม่คิดว่าพรรคร่วมจะเอาด้วย ทางการเมืองนโยบายนี้เป็นของเพื่อไทย ไม่ใช่ของพรรคอื่น ถ้าทำได้และทำดี พรรคเดียวที่ได้ประโยชน์คือเพื่อไทย อันนี้ต่างกับนโยบายอื่นที่ก็มีคนคัดค้านมากมายเหมือนกัน เช่น Land Bridge เพราะนโยบายนี้พูดไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลลุงตู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ จึงมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่ภูมิใจไทยที่มีความเป็นพรรคภาคใต้มากขึ้นก็ไม่อยากค้านเรื่องนี้ ประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านยังไม่มีท่าทีเรื่องนี้ที่ชัดเจนเลย" 

นายกรณ์ เชื่อว่า แจกเงินดิจิทัลหากล้มไปพรรคร่วมแทบทุกพรรคจะโล่งอก เพราะไม่ต้องเสี่ยง อีกทั้งปัญหาตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว แต่หากล้มหลังผ่าน ครม. หรือผ่าน สภาฯ ไปแล้วพรรคร่วมจะมีปัญหาด้วย เพราะต้องร่วมรับผิดชอบ ในกรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบเนื่องจากขณะนั้นยุบสภาไปแล้ว และรัฐบาลอยู่ในสภาพรักษาการ

"ช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องร้องเรียน พ.ร.บ. ฉบับนั้นกับศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ยื่นด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกันนักกับข้อสรุปล่าสุดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็คือการออก พ.ร.บ.ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนจำเป็นทำไมได้ ต้องใช้เงินใน พรบ.งบประมาณเท่านั้น (ซึ่งตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยเองก็ยืนยันว่าจะทำตามนั้น) ที่สำคัญผู้ที่ร่วมลงนามยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวันนั้น มีทั้ง ส.ส. ทั้งรัฐมนตรี และรวมไปถึงแม้แต่หัวหน้าพรรคของพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงเชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่ได้ไปต่อ เพราะเหล่านั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่า การออก พรบ.กู้เงินลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ วันนี้มี พ.ร.บ.วินัยทางการคลังมายํ้าประเด็นเพิ่มเติม และยังมีความเห็น ป.ป.ช. ที่ไม่เห็นด้วยอีกต่างหาก"

อดีต รมว.คลัง คาดว่าว่าพรรคเพื่อไทยกำลังหาทางลง ซึ่งเพียงบอกว่าเคารพความเห็นและความกังวลของทุกฝ่าย โดยจะเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีอื่น โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน การฟื้นฟูการลงทุน การยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย และการส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมในทุกภาคธุรกิจ

"ผมว่าถ้าออกมาอย่างนี้ รัฐบาลจะไปต่อได้อย่างมั่นคง แต่ถ้าดันทุรัง รัฐบาลจะมีปัญหา ซึ่งหมายความว่าประเทศก็จะมีปัญหา ยิ่งจบเร็วยิ่งจะมีผลเสียน้อยกับทุกฝ่ายครับ"