ส่องแนวโน้มธุรกิจบริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ปี 67-69

21 ม.ค. 2567 | 13:45 น.

วิจัยกรุงศรี เปิดแนวโน้มธุรกิจบริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในปี 2567-2569 โดยมีทั้งปัจจัยสนับสนุนเเละปัจจัยที่ท้าทายธุรกิจ

วิจัยกรุงศรี เปิดเเนวโน้ม "ธุรกิจบริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน" โดยระบุว่า มีแนวโน้มเติบโตในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในปี 2567-2569 แม้จะมีเเนวโน้มที่ดีเนื่องจากปัจจัยข้างต้นสนับสนุน เเต่จะมีแรงกดดันจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง จึงอาจฉุดรั้งผลประกอบการชะลอลงเล็กน้อย

ปี 2567-2569 รายได้มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง

ตามจำนวนผู้ใช้บริการที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางได้มากขึ้น ผลจากการมีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกันรวม 192 สถานี ทั้งรถไฟฟ้าสายหลักและส่วนต่อขยาย ทำให้มีการรับรู้รายได้ตามระยะทางและจำนวนสถานีที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 จะเป็นปีแรกที่มีการรับรู้รายได้จากการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูเต็มปี

นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีรายได้จากการให้บริการเดินรถ ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งบนรถไฟฟ้าและบริเวณโดยรอบ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่จะได้รับอย่างสม่ำเสมอและมีความต่อเนื่องในระยะยาว

ปัจจัยสนับสนุน

กำลังซื้อผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ระดับเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผนวกกับภาคท่องเที่ยวจะได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อน COVID (40 ล้านคน) ภายในปี 2568 จะเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า

การเพิ่มเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายใหม่

ทำให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนพัฒนาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าและบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนใหม่ โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย และเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งกระจายออกไปบริเวณชานเมืองมากขึ้น โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่าปี 2567-2569 การเปิดตัวที่อยู่อาศัยโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.6 หมื่นยูนิตต่อปี

ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ยังปรับเพิ่มพื้นที่สีส้ม คือ ที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และสีแดง คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าสายใหม่เกิดขึ้น อาทิ ถนนรามคำแหง (รถไฟฟ้าสายสีส้ม) ถนนลาดพร้าว (สายสีเหลือง) และมีนบุรี (สถานีร่วมของรถไฟฟ้าสีชมพูและสีส้ม) ทำให้ผู้พัฒนาโครงการสามารถขยายการลงทุนในพื้นที่ใหม่หรือสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตรได้ ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเส้นทางต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามมา

การเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายใหม่ 

สายสีชมพูในปี 2567 และส่วนต่อขยาย (ศรีรัช-เมืองทองธานี) ปี 2568 รวมถึงสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี) ปี 2569) จะเพิ่มโอกาสการเดินทางจากกรุงเทพฯ ชั้นนอกสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน และทำให้มีการส่งต่อผู้โดยสารจากพื้นที่ปริมณฑลสู่รถไฟฟ้าสายสีเขียว สีม่วง สีแดง และสีเหลือง ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเส้นทางที่วิ่งผ่านชุมชนและสถานที่สำคัญ เช่น ศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะและนนทบุรี) และเมืองทองธานี

ปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ารับรู้รายได้เต็มปีของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งรวมถึงรายได้จากการให้บริการเชิงพาณิชย์ อาทิ พื้นที่เช่าสำหรับร้านค้า และสื่อโฆษณาบริเวณสถานีโดยรอบ

ผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับพฤติกรรมมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น 

ชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อซึ่งต้องการความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางและมีความแน่นอนด้านเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด โดย TOMTOM Traffic Index ปี 2565 ระบุว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการจราจรติดขัดอันดับที่ 57 จาก 390 เมืองใหญ่ทั่วโลกจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศปี 2565 ที่ 849,388 คัน เพิ่มขึ้น 11.9% จากปี 2564 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.0-4.0% ต่อปีในปี 2567-2569 เมื่อผนวกกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่อง (คาดราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ทำให้การใช้รถไฟฟ้าสาธารณะที่มีเส้นทางครอบคลุมจะเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้น

ภาครัฐมีแผนจัดระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้สะดวก 

เช่น เรือโดยสาร รถโดยสารประจำทาง ชัตเติลบัส และรถจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงการใช้ระบบตั๋วร่วม (Common Ticket) และการให้ส่วนลดเมื่อมีการเปลี่ยนระบบ อาทิ การลดภาระค่าโดยสารด้วยการเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียวสำหรับการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าในกำกับรัฐ (รถไฟฟ้ามหานครกับรถไฟฟ้าชานเมืองเริ่มทยอยให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2566 กรณีใช้บริการสายสีแดงเชื่อมต่อสายสีม่วง

และกรณีชำระเงินผ่านบัตร EMV Contactless จะลดค่าแรกเข้าเที่ยวละ 20 บาท หรือ 40 บาทต่อวันทั้งขาไปและกลับ หรือ 800 บาทต่อเดือน คาดให้บริการปี 2567 ซึ่งจะจูงใจให้มีผู้ใช้บริการข้ามเส้นทางมากขึ้น

ปัจจัยท้าทาย

  • กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้สินจึงอาจลดทอนความสามารถในการใช้จ่าย
  • อุปสงค์การเดินทางของนักท่องเที่ยวอาจถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
  • ต้นทุนการดำเนินงาน (ได้แก่ค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน และค่าไฟฟ้า) มีความผันผวนในทิศทางปรับสูงขึ้น จึงอาจกดดันอัตรากำไรของธุรกิจเป็นระยะ

ที่มาข้อมูล