รัฐบาลสั่งคลังวิเคราะห์ GDP สศช. ขอเพิ่มข้อมูลรายได้-หนี้ครัวเรือน

27 ธ.ค. 2566 | 23:07 น.

รัฐบาล มอบหมายกระทรวงการคลัง ยกข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทย และตัวเลข GDP ของ สศช. ไปตรวจสอบและวิเคราะห์ให้ถูกต้อง หวังใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมขอให้เพิ่มข้อมูลรายได้ และหนี้ครัวเรือน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังนำข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไปตรวจสอบและวิเคราะห์ให้ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และรวดเร็วมากยิ่งขึ้นต่อไป

พร้อมกันนี้ยังขอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิเคราะห์ข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น หนี้ภาคครัวเรือน รายได้ของประชาชน หนี้และศักยภาพในการประกอบธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

 

รัฐบาลสั่งคลังวิเคราะห์ GDP สศช. ขอเพิ่มข้อมูลรายได้-หนี้ครัวเรือน


 

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ที่ สศช. เสนอต่อที่ประชุมครม.ครั้งนี้ ประกอบด้วยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2566 พบว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัว 1.5% เทียบกับการขยายตัว 1.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเมื่อรวม 9เดือนของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% 

โดยด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกสินค้าการอุปโภคของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สำหรับด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวในเกณฑ์สูง สาขาเกษตรกรรม สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาการก่อสร้างขยายตัว ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง 

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า GDP จะขยายตัว 2.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.6% ในปี 2565 ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1% ของ GDP สำหรับปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.7%

 

รัฐบาลสั่งคลังวิเคราะห์ GDP สศช. ขอเพิ่มข้อมูลรายได้-หนี้ครัวเรือน

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 และในปี 2567 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย นั่นคือ ปี 2566 ขยายตัว 2.5% และปี 2567 ขยายตัว 2.7-3.7% สศช.เสนอว่า ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ รวม 7 เรื่องดังนี้ 

1. การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยควรให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้มีความเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป 

2. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ความสำคัญต่อมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และต้นทุนภาคเกษตร 

3. การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าให้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

4. การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน 

5. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 

6. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร

7. การรักษาแรงขับเคลื่อน การขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ