เคาะแล้ว 2 ม.ค.นี้ “กทม.” เก็บค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว” 15 บาท

27 ธ.ค. 2566 | 01:51 น.

จับตาวันนี้ “กทม.” ชง “ชัชชาติ” ไฟเขียวลงนามประกาศเก็บ “ค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว” 15 บาท เริ่ม 2 ม.ค.67 ฟากบีทีเอสซีปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์พร้อมให้บริการ เตรียมแจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า 1-2 วัน เล็งเปิดตารางค่าโดยสารใหม่ในคืนวันที่ 1 ม.ค.นี้

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ในอัตรา 15 บาท ขณะนี้ระบบจัดเก็บค่าโดยสารมีความพร้อมแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.พิจารณาลงนามประกาศเก็บค่าโดยสารฯ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป คาดว่าจะลงนามได้ภายในวันนี้

 

“หลังจากผู้ว่าออกประกาศแล้ว ทางกทม.จะเร่งแจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าด้วย โดยการจัดเก็บค่าโดยสารในครั้งนี้ผู้โดยสารจะถูกเก็บค่าโดยสารฯช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ เพียงครั้งเดียว”

 

สำหรับการจัดเก็บค่าโดยสารดังกล่าวในเส้นทางของบีทีเอสซี ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ช่วงหมอชิต – อ่อนนุชและช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ – วงเวียนใหญ่ ยังคงเก็บค่าโดยสาร 17-47 บาท ส่งผลให้ค่าโดยสารของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย สูงสุดที่ 62 บาท
 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี กล่าวว่า กรณีที่กทม.จะออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 15 บาทนั้น ปัจจุบันการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ของบริษัทมีความพร้อมแล้ว 

 

“ที่ผ่านมากทม.ได้มีการแจ้งให้บริษัทเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้สักพักแล้ว ซึ่งบริษัทจะต้องติดประกาศแจ้งผู้โดยสารให้ทราบโดยเร็วที่สุดหรือภายใน 1-2 วัน ก่อนประกาศเก็บค่าโดยสารจริงในวันที่ 2 ม.ค.67 ส่วนการประกาศตารางค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวใหม่คาดว่าจะดำเนินการภายในคืนวันที่ 1 ม.ค.นี้”

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมากระทรวงได้ตอบกลับความเห็นกทม.ถึงการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวแล้ว โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มีความเห็นประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ดังนี้ 1. แนวทางเก็บค่าโดยสาร (ชั่วคราว) 15 บาทตลอดเส้นทาง ควรมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว พร้อมจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาเปรียบเทียบผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนผู้ใช้บริการและจัดเตรียมข้อชี้แจงพร้อมเหตุผลเพื่ออธิบายต่อประชาชนผู้ใช้บริการในการเก็บค่าโดยสารฯ 
 

2.การพิจารณาจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ในระยะต่อไป ควรสอดคล้องตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยดำเนินการให้มีการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบ หรือค่าธรรมเนียมในลักษณะเดียวกัน หากผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. โดยระบบที่ผู้โดยสารขึ้นก่อนเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้าระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ของ รฟม. ให้ กทม. และเป็นไปตามความเห็นประกอบการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการฯ ของกระทรวงการคลัง

 

3. การดำเนินงานระบบตั๋วร่วมเร่งรัดการพัฒนาระบบ Ticketing ให้รองรับรูปแบบการชำระเงิน เพื่อรองรับบัตร EMV Contactless (Europay, MasterCard, Visa) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามนโยบายการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม อีกทั้งสอดคล้องกับความเห็นประกอบการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการฯ ของกระทรวงการคลัง เป็นระบบเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทาง การยกเว้นการเรียกเก็บค่าแรกเข้า ซึ่งต้องอยู่ในพื้นฐานของระบบตั๋วร่วม

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันรถไฟฟ้าในการกำกับดูแลของ รฟม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการเรื่องระบบตั๋วร่วมมาตรฐานบัตร EMV Contactless แล้ว แต่รถไฟฟ้าในการกำกับดูแลของ กทม. ยังไม่มีการปรับปรุงระบบเป็นระบบดังกล่าว อีกทั้งเป็นนโยบายของ กค. ที่ต้องการให้มีการใช้ระบบเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทาง จึงเห็นควรให้ กทม. เร่งรัดดำเนินการเปลี่ยนเป็นระบบตั๋วร่วมเป็นตามมาตรฐานที่สามารถรองรับบัตร EMV ได้

 

4. เพื่อให้นโยบาย 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล สามารถบูรณาการข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่น เห็นควรให้ กทม. ดำเนินการระบบตั๋วร่วมตามความเห็นข้างต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการบูรณาการเดินทางข้ามสาย ตามมาตรการ 20 บาทตลอดเส้นทางของรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมในระยะต่อไป 

 

นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีสำโรง หากดำเนินมาตรการ 20 บาทตลอดเส้นทาง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางในชีวิตประจำวันและส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางพร้อมรองรับการเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองย่านธุรกิจได้ในอนาคตต่อไป