พาณิชย์ชี้ 5 สินค้า-ธุรกิจ อ่วม ทำใจรอหากขึ้นค่าไฟฟ้า 4.68 บาท/หน่วย

15 ธ.ค. 2566 | 04:19 น.

พาณิชย์วิเคราะห์ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด 4.68 บาท/หน่วย เสี่ยงทำให้เงินเฟ้อและต้นทุนเพิ่มขึ้น จับตา 5 สินค้าและบริการรวมทั้ง 5 ธุรกิจ ทำใจรอขึ้นราคาแน่

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ พบว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย (เท่ากันทั้งครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม) จากระดับปัจจุบัน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 17.29% จะส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ทั้งอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ต้นทุนผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดอยู่แล้ว

ทั้งนี้เนื่องจากค่ากระแสไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตต้นน้ำที่สำคัญ หากมีการปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าจะส่งผ่านผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งกลางน้ำและปลายน้ำ ผ่านการส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม (direct and indirect effect) ได้เป็นวงกว้าง

สำหรับมิติของต้นทุน ไฟฟ้าเป็นต้นทุนของภาคการผลิตและบริการทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยมีสัดส่วน 2.51% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยสาขาการผลิตที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นต้นทุนสูง ได้แก่ 

  1. การผลิตน้ำแข็ง (ร้อยละ 29.88 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด) 
  2. โรงแรมและที่พักอื่น (ร้อยละ 17.12) 
  3. สถานที่เก็บสินค้าและการเก็บสินค้า (ร้อยละ 16.90) 
  4. การประปา (ร้อยละ 14.30) 
  5. การผลิตซีเมนต์ (ร้อยละ 12.13) 
  6. การปั่นด้าย การหีบฝ้าย และเส้นใยประดิษฐ์ (ร้อยละ 12.11) 

ขณะที่ในมิติของสินค้าที่ครัวเรือนบริโภคนั้น ค่ากระแสไฟฟ้ามีสัดส่วนถึง 3.90% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน 

ดังนั้น การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าทั้งระบบ (ภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคครัวเรือน) 17.29% ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตและการบริโภคของครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยภาคการผลิตและบริการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.65% และภาคครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 0.66% ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมทันที 0.66% 

อีกทั้งยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกถึง 1.62% หากมีการส่งผ่านต้นทุนการผลิตและบริการไปยังสินค้าขั้นสุดท้ายในระยะต่อไป โดย 5 สินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ประกอบด้วย 

  1. น้ำแข็ง 
  2. ค่าห้องพักโรงแรม 
  3. น้ำประปา 
  4. เสื้อผ้า 
  5. ผ้าอ้อมเด็ก 

รวมทั้งยังมีความเสี่ยงทำให้ค่าเช่าบ้านและอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นผลจากค่าเช่าพื้นที่หรือค่าเช่าตลาดที่เพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังและติดตามภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหรือบริการที่มีการแข่งขันสูง มีสภาพคล่องต่ำ การเติบโตทางรายได้ และผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงมีผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมดังกล่าว 

โดยจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์กลุ่มที่มีอัตราส่วนสภาพคล่องต่ำกว่า 1 และวิเคราะห์อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวมที่ยังคงติดลบ (หรือขาดทุน) ในปี 2565 เช่น

1. โรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -12.6% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อย (Micro SME) เป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด 

2. เกสต์เฮ้าส์ มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -7.4% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยสูงถึง 80%

3. การผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -3.5% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยคิดเป็นสัดส่วน 12.2%

4. การทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -2.1% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยอยู่ที่ 47.5%

5. การผลิตจักรยาน มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -1.1% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยอยู่ที่ 31.5%

ดังนั้นการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น