เอกชนผวาปี 67 ปัจจัยเสี่ยงอื้อ สินค้านอกทุบตลาดหนัก จับตาลาม 30 อุตสาหกรรม

08 ธ.ค. 2566 | 04:26 น.

เอกชนมือก่ายหน้าผาก ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจปี 67 เพียบ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง ดอกเบี้ยพาเหรดปรับขึ้น สินค้านอกทุบตลาดหนัก จับตารัฐแก้ไม่ได้ ลามกระทบมากกว่า 30 อุตฯ เหล็กอ่วมสุดกำลังผลิตเหลือแค่ 20% เศรษฐกิจโลกชะลอต่อ ส่งออกฟื้นตัวต่ำ หวังท่องเที่ยว-ซอฟต์พาวเวอร์ ช่วยพยุง ศก.

เศรษฐกิจไทยช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2566 ยังขยายตัวเพียง 1.9% จากที่หลายสำนักคาดทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3% ซึ่งยังต้องลุ้นตัวเลขในไตรมาสที่ 4 เส้นทางข้างหน้าในปี 2567 ภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมองยังมีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในปี 2567 ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยยังต้องเผชิญปัจจัยลบต่อการทำธุรกิจอีกมาก ที่สำคัญคือค่าไฟฟ้างวดใหม่ ที่ในเบื้องต้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 2567 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย (จากปัจจุบัน 3.99 บาทต่อหน่วย) จากค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และค่าไฟฟ้าฐานที่ปรับเพิ่มขึ้น

ในเรื่องค่าไฟฟ้า หนึ่งในต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการที่จะปรับเพิ่มขึ้นนี้ ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ได้มีการหารือและเห็นตรงกันว่าอยากให้รัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยไว้อีกรอบในงวดหน้า และขอให้เร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ตามที่เอกชนเคยเสนอไว้ในรัฐบาลที่ผ่านมาโดยเร็ว เพื่อร่วมกันพิจารณาโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ให้ต้นทุนพลังงานไทยมีความเสถียรไม่เปลี่ยนทุก 4 เดือน เพื่อช่วยในการบริหารต้นทุนของภาคเอกชน และจูงใจนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนไทย

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“เราคิดว่าเป็นการไม่ถูกต้องที่จะต้องมาลุ้นค่าไฟฟ้ากันทุก 4 เดือน ซึ่งในมุมความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะขวัญหนีดีฝ่อ เพราะกกพ.มาพูดล่วงหน้าโดยตัวเลขสุดท้ายของค่าไฟในต้นปีหน้าอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย สูงกว่าค่าไฟในปัจจุบันถึง 17% จะส่งผลต่อต้นทุนและทำให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าหลังสต๊อกเก่าหมด ขณะที่ในแง่นักลงทุนไทย นักลงทุนต่างชาติ หรือ FDI ที่กำลังจะเข้ามาใหม่ เขาจะเปรียบเทียบค่าไฟของเรากับประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาคนี้ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่ค่าไฟเขานิ่งและตํ่ากว่า ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุน”

ต่อมาคือ ค่าจ้าง หรือค่าแรงขั้นตํ่า ที่กำลังจะปรับขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการ SME จำนวนมากอาจแบกรับภาระไม่ไหว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ปัจจุบันปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี (สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี) ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินสูง ซึ่งทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อราคาสินค้า และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

เอกชนผวาปี 67 ปัจจัยเสี่ยงอื้อ สินค้านอกทุบตลาดหนัก จับตาลาม 30 อุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันเวลานี้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ที่นำเข้ามาในลักษณะที่ถูกกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการในประเทศสู้ต้นทุนไม่ได้ และอีกส่วนหนึ่งนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายในลักษณะการลักลอบ มีการสำแดงเท็จในลักษณะเดียวกับหมูเถื่อน ที่สำแดงเป็นสินค้าปลา เป็นอาหารทะเล เข้ามาจำหน่ายในประเทศในราคาถูกกว่าสินค้าในประเทศ 10-20% หรือมากกว่านั้น เป็นสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย เข้ามาทำลายวงจรผู้ผลิต และซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องในประเทศถึงขั้นปิดกิจการ จากขาดทุนสะสมแล้วหลายราย ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาสร้างผลกระทบแก่ภาคการผลิตของไทยแล้วมากกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก ของส.อ.ท.

“ในเรื่องสินค้าราคาถูก คุณภาพตํ่าที่ดัมพ์เข้ามาจากต่างประเทศรัฐบาลต้องช่วยเร่งแก้ไข หรือมีมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่เช่นนั้นปีหน้าอาจจะลามไปถึง 30 กลุ่มอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 46 กลุ่มของ ส.อ.ท.ที่อาจต้องเลิกจ้างคนงานหรือปิดกิจการ เหมือนกรณีโรงงานเหล็กที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เวลานี้ค่าเฉลี่ยของการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 59% โดยอุตสาหกรรมเหล็กใช้กำลังการผลิตตํ่าสุดเฉลี่ยที่ 22-23%”

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่ล่าสุด กกร.คาดจะขยายตัวได้ที่ 2.8-3.3% แต่ยังมีความเปราะบาง จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ ทั้งสหรัฐ จีน และยุโรป จะกระทบต่อภาคการส่งออกไปยัง 3 ตลาดใหญ่ดังกล่าวยังชะลอตัว ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันขยายตลาดใหม่ ๆ ที่ยังมีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ(GCC) ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา แอฟริกา อินเดียและเอเชียใต้ เป็นต้น และต้องเร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี  (FTA) ใหม่ ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออก และจูงใจดึงการลงทุน

ขณะที่ยังต้องจับตาสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของหลายคู่ของโลก เช่น จีน-ฟิลิปปินส์ กรณีทะเลจีนใต้, จีน-ไต้หวันกรณีช่องแคบไต้หวัน, ความขัดแย้งเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่จะมีขึ้นในเดือน ม.ค. 2567 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.2567 ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายคงนโยบาย หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายของผู้นำ และทิศทางของโลก

อย่างไรก็ดีในปี 2567 ยังมีความหวังจากภาคการท่องเที่ยวที่จะยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดย กกร.คาดปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มเป็น 33-34 ล้านคน รวมถึงเรื่องซอฟต์ พาวเวอร์ 11 สาขาที่รัฐบาลกำลังผลักดันสู่ภาคปฏิบัติ ที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทย ส่วนเงินดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาทที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็คาดหวังว่าจะสามารถดำเนินการได้จริง

ขณะรายงานข่าวจาก กกร.เผยว่าในการประชุม กกร.ประจำเดือนธันวาคม 2566 ได้ประเมินจีดีพีไทยในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 2.4% ตํ่ากว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5-3.0% ผลกระทบหลักจากการส่งออกที่ยังชะลอตัว

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุม กกร.ล่าสุดได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ที่ 2.8-3.3% ซึ่งยังมีความเสี่ยงจะขยายตัวได้น้อยกว่า 3% จากยังต้องเผชิญทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความเปราะบางในประเทศจากหนี้ครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ที่ยังสูงและยังมีความท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง การปรับตัวทางด้านเทคโนโลยี การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และการก้าวสู่ Low Carbon society เป็นต้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3947 วันที่  10 -13 ธันวาคม พ.ศ. 2566