สศช. ชี้ราคาสินค้าขึ้นรอ 6-7 เดือน ก่อนรัฐประกาศ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

27 พ.ย. 2566 | 03:55 น.

สศช. เปิดข้อมูลด้านแรงงาน รับที่ผ่านมารัฐเตรียมประกาศ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก่อนมีการบังคับใช้จริง ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเริ่มปรับเพิ่มขึ้นรอล่วงหน้าก่อน 6 – 7 เดือน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบรายได้ผู้ใช้แรงงาน

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2566) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566 ว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม ส่วนการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 0.99% แต่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปนั่นคือ ระดับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้าง ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยการศึกษาของ สศช.ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2555 พบว่า การประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำล่วงหน้าก่อนมีการบังคับใช้จริง จะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเริ่มปรับเพิ่มขึ้นก่อน 6 – 7 เดือน 

อีกทั้งระดับราคาสินค้ายังคงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปอีก 7 เดือน หลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจริง ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มระดับราคาทั้งที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงอาจต้องมีการกวดขันไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าด้วยสาเหตุจากการปรับค่าจ้างก่อนช่วงเวลาที่ปรับจริง

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566

ขณะเดียวกันยังต้องติดตามด้วยว่าการหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต จากมูลค่าการส่งออกในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐ ของประเทศไทยที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 หากพิจารณาการจ้างงานในสาขาการผลิตพบว่า การผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญหลายรายการมีการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8% ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3

เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 ขณะที่การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า แม้ว่าการจ้างงานในไตรมาส 3 ปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้น แต่ในระหว่างไตรมาส 3 ปี 2565 ถึงไตรมาส 2 ปี 2566 การจ้างงานหดตัวลงเฉลี่ยกว่า 18.2% ต่อไตรมาส

สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐอาจต้องให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ โดยอาศัยผลประโยชน์จากการอ่อนค่าลงของเงินบาทที่จะทำให้สินค้าจากไทยได้เปรียบทางการแข่งขัน

 

สศช. ชี้ราคาสินค้าขึ้นรอ 6-7 เดือน ก่อนรัฐประกาศ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

สำหรับภาพรวมการจ้างงานไตรมาสสาม ปี 2566 พบว่า ขยายตัวต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม 

โดยภาคเกษตรกรรมขยายตัวที่ 2% สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสสามที่ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.74% ส่วนการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 2 เท่า ส่งผลให้สาขาโรงแรมและภัตตาคารมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นถึง 8.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 

เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 2.9% ขณะที่สาขาการขนส่งและเก็บสินค้า ปรับตัวดีขึ้นที่ 2.1% สำหรับการจ้างงานในสาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้น 0.6% โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในสาขาที่ผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ อาทิ สาขาการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และการผลิตโลหะขั้นมูลฐาน ขณะที่สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่อง

ส่วนภาพรวมชั่วโมงการทำงานลดลงเล็กน้อย ขณะที่ผู้ทำงานต่ำระดับยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมและของภาคเอกชนในไตรมาสสาม ปี 2566 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 42.4 และ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงเล็กน้อยที่ 0.2% และ 1.3% ตามลำดับ ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาลดลง 2% และผู้ทำงานต่ำระดับยังคงลดลงต่อเนื่องกว่า 28.8% หรือเหลือเพียง 1.7 แสนคน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผู้เสมือนว่างงาน พบว่า มีจำนวนถึง 2.3 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 24.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม สำหรับค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสี่ ปี 2564 โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมและของภาคเอกชนอยู่ที่ 15,448 และ 14,141 บาทต่อคนต่อเดือน ขยายตัว 1.5% และ 2.8% ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าจ้างที่แท้จริงปรับเพิ่มขึ้น 9% และ 10.3% ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566