สศช. เตือนจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 ต่อเนื่อง อนาคตข้าวไทยทรุด

18 พ.ย. 2566 | 09:16 น.

สศช. เตือน โครงการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท มูลค่ากว่า 5.6 หมื่นล้าน หากยังทำต่อเนื่องอีก เสี่ยงเกิดสัญญาณร้ายทุบอนาคตข้าวไทยอีกสารพัด แนะช่องทางการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ภายหลังการ จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท หรือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท ได้ผ่านพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว 

โดยหนึ่งในหน่วยงานที่ทำเรื่องเสนอเข้ามานอกเหนือจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ธปท.ฝศม. 806/2566 เตือน โครงการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท มีความจำเป็นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันราคาข้าวสูงขึ้นมากและราคาปุ๋ยลดลงต่อเนื่อง

พร้อมทั้งแจ้งเตือนมีเนื้อหาสำคัญว่า ควรมีแนวทางป้องกันปัญหา Moral hazard หรือ “ภาวะภัยทางศีลธรรม” จากการที่เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือซ้ำซ้อน จากโครงการ จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ด้วยนั้น ล่าสุดยังมีความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. เสนอเข้ามาโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 1114/6630 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566

 

ภาพประกอบข่าว เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท

 

ต้องพัฒนาเกษตรกร-เช็คฐานะการเงินการคลัง

สศช. ระบุว่า มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 โดยการดำเนินโครงการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทางด้านรายได้อันเนื่องมาจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการกำหนด แนวทางพัฒนาเกษตรกรให้เข้มแข็งเกิดความยั่งยืนและลดภาระการเงินการคลังของประเทศในระยะต่อไป 

โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความรู้ อบรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในระหว่างปี 2567-2568 ด้วย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 แล้ว 

ทั้งนี้ ควรพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ด้วย

 

ภาพประกอบข่าว เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท

 

เตือนอนาคตอุตสาหกรรมข้าวไทยเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม สศช. มองว่า การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมข้าวไทยในตลาดโลก เนื่องจากไม่สามารถสร้างแรงจูงและผลักดันให้เกษตรกรเกิดความต้องการปรับระบบการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิต 

รวมทั้งยังอาจทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเพิ่มการผลิตข้าวที่เกินกว่าโอกาสทางการตลาดตามมา หากยังมีการสนับสนุนในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวในระยะยาว 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร ความคุ้มค่าของงบประมาณ และการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการ ดังนี้

1.เร่งดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 - 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่กำหนดเป้าหมายลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ หรือ 6,000 บาท/ตัน และมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็น 600 กก./ไร่ ในปี 2567 ผ่านการอบรมให้ความรู้ และ ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในระหว่างปี 2567 - 2568 ให้ได้ผลความก้าวหน้าเป็นรูปธรรม

2. การดำเนินการในระยะต่อไป ควรพิจารณากำหนดเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ (Conditional Incentive) ที่จะเป็นเครื่องมือให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการกำหนดคุณสมบัติหรือเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องปฏิบัติเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ เช่น การกำหนดเงื่อนไขด้านความเหมาะสมของพื้นที่การเพาะปลูกข้าว 

 

ภาพประกอบข่าว เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท

 

โดยอาจกำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกในเขตที่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกข้าวในระดับสูง (S1) และระดับปานกลาง (S2) เป็นหลัก และลดความช่วยเหลือกับพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) เนื่องจากการปลูกข้าว ในเขตที่ดินที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ 

พร้อมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนชนิดพืช เพาะปลูกหรือการปลูกพืชแบบผสมผสานที่มีโอกาสปรับตัวไปสู่สินค้าเกษตรกรมูลค่าสูงเป็นทางเลือกให้ เกษตรกร หรือการกำหนดพันธุ์ข้าวที่เข้าร่วมโครงการเพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวไปสู่พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตและมีโอกาสทางการตลาดสูงและสามารถเพิ่มคุณภาพความหอมของผลผลิต

รวมทั้งมีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และโรคระบาด เป็นต้น