วัฒนธรรมผุดงาน"เมือง นคร บุรี"ชูอัตลักษณ์พื้นถิ่นสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน

26 พ.ย. 2566 | 02:47 น.

วัฒนธรรมผุดงาน"เมือง นคร บุรี"ชูอัตลักษณ์พื้นถิ่นสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน เดินหน้าร่วมมือพันธมิตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ดันภาพลักษณ์ความเป็นไทยในระดับสากล

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว และช่วยเผยแพร่ภาพลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวผ่านการจัดนิทรรศการผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิดเมือง นคร บุรี 

"การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพหลักในการนำทุนทางศิลปวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดและสร้างสรรค์เป็น Soft Power"

วัฒนธรรมผุดงาน"เมือง นคร บุรี"ชูอัตลักษณ์พื้นถิ่นสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ดำเนินโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร นำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาประยุกต์กับองค์ความรู้ทางด้านศิลปะร่วมสมัยเป็นแนวคิดในการออกแบบสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมประเภทต่าง ๆ 

และนำไปขยายผลให้แก่ชุมชนเพื่อปรับใช้ทุนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ในการพัฒนาชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานรากอย่างแท้จริงโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 

โดยได้ค้นหาและสร้างสรรค์อัตลักษณ์ท้องถิ่นให้กับชุมชนต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 221 อำเภอ ใน 21 จังหวัดเป้าหมาย มุ่งส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ศิลปะร่วมสมัยด้านการออกแบบ การสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นต้นแบบให้ประชาชนได้ศึกษา ค้นคว้าและตระหนักถึงความสำคัญของงานออกแบบที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ 

วัฒนธรรมผุดงาน"เมือง นคร บุรี"ชูอัตลักษณ์พื้นถิ่นสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน

อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2566 นี้ได้คัดเลือกจังหวัดเพิ่มเติม ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น และมีศักยภาพในการพัฒนา ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก จังหวัดลพบุรี และจังหวัดนครปฐม นำมาต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการออกแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น 

อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด และช่วยสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนได้ในอนาคต โดยภายในงานจะมีผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นจาก 22 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก จังหวัดลพบุรี และจังหวัดนครปฐม เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดด้านการออกแบบอัตลักษณ์ของชุมชนในรูปแบบร่วมสมัยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน เช่น 

ตราสัญลักษณ์ (logo) ลายต้นแบบ ตัวอย่างการวางกราฟิกลวดลายบนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โทนสีอำเภอ ชุดอักษร (fonts) ผ้าลายอัตลักษณ์ของแต่ละอำเภอ เป็นต้น นอกจากนี้ สศร. ยังได้เพิ่มตัวอย่างการออกแบบบริการและประสบการณ์ (Service Design) เพื่อเป็นแนวทางในการนำอัตลักษณ์จากทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวท้องถิ่นได้ในอีกทางหนึ่ง

"นิทรรศการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม เมือง นคร บุรี จัดขึ้นถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ Creative Lab ชั้น 3  ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ กรุงเทพฯ"