เก็บ 15 บาท "รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีเขียว" กทม.เคาะตลอดสายไม่เกิน 62 บาท

24 พ.ย. 2566 | 00:54 น.

   กทม.-คมนาคม ประสานเสียงเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่ 2 ราคา 15 บาท รวมท่อนสัมปทาน ค่าตั๋วไม่เกิน 62 บาท ตลอดสาย ดีเดย์หลังปีใหม่ 67 หลังนั่งฟรีมานาน หวังนำเงินใช้หนี้เอกชน BTSรับ ช่วยให้หนี้ที่ค้างลดลง

 

การเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยไม่เก็บค่าโดยสารตั้งแต่ปี 2560 กลายเป็นปมร้อนภาระหนี้ผูกพันแก่เอกชนผู้รับสัมปทานจ้างเดินรถ สะสมถึงปัจจุบันกว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่กทม.ต้องชำระ แบ่งเป็นหนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTSC เดินรถประมาณ 3 หมื่นล้านบาท กระทั่งเอกชนยื่นฟ้องศาลปกครองกลางและมีคำสั่งให้กทม.ชำระหนี้สิน

 ที่ผ่านมานโยบายเก็บค่าโดยสาร เส้นทางดังกล่าวมีความพยายามมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนก่อน ราคา 15-104 บาท เริ่ม 16 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อนำรายได้มาชำระหนี้เอกชน แต่มีปัญหาว่า การจัดเก็บค่าโดยสารต้องไม่เป็นภาระค่าครองชีพประชาชน ทำให้ประกาศนั้นได้ยกเลิกไป

ล่าสุด กทม. ภายใต้การบริหารของนายชัชชาติ สุทธิพันธุ์ ที่มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้กำกับดูแล การแก้ไขปัญหาภาระหนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีนโยบาย เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย หากรวมกับค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า กับเส้นทางหลัก ค่าโดยสารสูงสุดจะไม่เกิน 62 บาท เริ่มเดือนมกราคมปี 2567

เพื่อรอความพร้อมเอกชนปรับระบบซอฟต์แวร์เก็บค่าโดยสารให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ยืนยันว่า ได้หารือกับกระทรวงคมนาคมแล้วไม่มีปัญหาขัดข้องแต่อย่างใด หลังจากก่อนหน้านี้ทาง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนะผลศึกษาให้กับนายชัชชาติ เก็บค่าโดยสารสายสีเขียวตลอดสายไม่เกิน 59 บาทแต่ต้องยกเลิกออกไปเช่นกัน

ประเด็นนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม มองว่าการจัดเก็บค่าโดยสารถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะขณะนี้ กทม.ยังเป็นหนี้กับเอกชน อีกทั้งในปัจจุบันโครงการฯในช่วงดังกล่าวมีการเปิดให้บริการใช้ฟรีมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้ในช่วงที่มีการก่อสร้าง ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่ากทม.จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการขอความคิดเห็นการจัดเก็บค่าโดยสาร

เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน โดยที่ผ่านมากทม.ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ,กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ฯลฯ ถึงการจัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย เบื้องต้นในที่ประชุมรฟม.ไม่ได้ขัดข้องในการจัดเก็บค่าโดยสาร เพราะถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดแล้ว และสามารถดำเนินการได้ โดยใช้เทศบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น คือ กทม.

 ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า กรณีที่ผู้ว่าฯกทม.เตรียมลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครว่าด้วยเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนั้น บริษัทฯ ยังไม่ได้รับแจ้งจากกทม. แต่หากกทม.ลงนามแล้ว ตามกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน เพื่อให้เวลาในการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงก่อน

 “เมื่อมีการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายแล้วหวังว่าทาง กทม.จะแบ่งรายได้มาจ่ายหนี้ให้ BTSC เพื่อให้หนี้ที่มีอยู่ลดลงบ้าง ปัจจุบันภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกทม. และ BTSC มีตัวเลขยอดหนี้รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTSC เดินรถ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันทราบว่า กทมอยู่ระหว่างพิจารณาหาแนวทางการชำระหนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้”

  สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.ส่วนสัมปทาน ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช, ช่วงสนามกีฬา-สะพานตากสิน ซึ่งรายได้จากค่าโดยสารเป็นของเอกชนเอกชนตามสัญญาสัมปทาน 2.ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า รายได้จากค่าโดยสาร กทม.จ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้จ้างเอกชนเดินรถอีกต่อ

มีการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย 3.ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งกทม.ได้มอบหมายงานให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างเอกชน โดยปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารในส่วนนี้

 อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ 2 ที่กทม.จะขอชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท เพราะครบกำหนดชำระแก่เอกชนนั้น ปัจจุบันกทม.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวถึงกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ว่าจะให้กทม.ดำเนินการอย่างไร เนื่องจากการชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ถูกรวมในกฎหมายมาตรา 44 ในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวด้วย หากครม.เห็นชอบให้กทม.ชำระหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องผ่านมาตรา 44 จะต้องนำเรื่องนี้เสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบ

ค่าโดยสารสายสีเขียว