“ชัชชาติ” ถก “เศรษฐา” ยันสายสีเขียว 1-2 สัปดาห์สรุปก่อนชงมหาดไทย

18 ก.ย. 2566 | 06:53 น.

“ชัชชาติ” เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล หารือนายกฯ “เศรษฐา” ยอมรับปมค้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว คาดสภากทม. พิจารณาเสร็จ ใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนชงมหาดไทยให้รายงานนายกฯ ต่อไป

วันนี้ (18 กันยายน 2566) เวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการหารือกับร่วมกับนายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมเห็นชอบในการจัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ในส่วนของปัญหาเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว กระหว่างกทม. และ บีทีเอส นั้น นายชัชชาติ ระบุภายหลังว่า ขณะนี้ ขั้นตอนอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งยอมรับว่า เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือมา สอบถาม กทม.ถึงขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่ง กทม. ก็ได้ตอบกลับไปแล้ว

 

“ชัชชาติ” ถก “เศรษฐา” ยันสายสีเขียว 1-2 สัปดาห์สรุปก่อนชงมหาดไทย
 

“ได้รายงานกับนายกฯ ไปว่า เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ทั้งประชาชน และภาคเอกชนที่มาลงทุน เพราะในอนาคตยังมีรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่ต้องเชิญคนมาลงทุน ดังนั้นในแง่ของความมั่นใจ และความโปร่งใสประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งวันนี้กระบวนการยังอยู่ในสภากทม. คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะส่งเสร็จมายังให้มหาดไทย และมหาดไทยจะเสนอมายังนายกฯ อีกที”

ส่วนการทำงานร่วมกันโดยใช้กลไกของคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร นั้น ผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการทำงานมา 1 ปี ปัญหาของกทม.มีหลายด้าน ปัญหาอย่างหนึ่งคือการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพราะมีอำนาจค่อนข้างจำกัด ถ้าเกิดมีการประสานงานที่เข้มข้น และมีทิศทางที่ชัดเจนจากฝ่ายบริหาร เชื่อว่า ปัญาหลายอย่างน่าจะบรรเทาลงไปได้มาก

 

“ชัชชาติ” ถก “เศรษฐา” ยันสายสีเขียว 1-2 สัปดาห์สรุปก่อนชงมหาดไทย

ทั้งนี้ยอมรับว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมารอบนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กทม. ตำรวจ ไม่ได้เน้นเรื่องการลงทุน หรือโครงการเมกกะโปรเจกต์ แต่เน้นเรื่องการสั่งการเรื่องข้อปัญหาที่ติดขัดต่าง ๆ เป็นปัญหาเร่งด่วน เช่น การแก้ปัญหาการจราจร การเชื่อมโยงการเดินทางรถไฟฟ้า หรือเรื่องการสร้างซอปต์เพาเวอร์ การสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย 

รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดหาพื้นที่ทำมาหากินของประชาชน ทั้งพื้นที่ใต้ทางด่วน หรือ พื้นที่ส่วนราชการ เช่นเดียวกับด้านความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกทั้งกทม.ยังมีแนวทางการฟื้นการจัดทำเทศกาลฤดูหนาว ช่วงปลายเดือนธันวาคม นี้ ให้อยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของโลก นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการแก้ไขปัญหาของสายสื่อสารด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า กทม.เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญมาก จึงได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดเล็กขึ้นมาหนึ่งชุด ประมาณ 6-7 คน เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ โดยการใช้นโยบายเป็นหลัก โดยเรื่องของการใช้งบประมาณคงมีน้อยมาก ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุน กทม. ในการแก้ไขปัญหา และประสานงานระหว่างส่วนราชการ จึงให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของกทม.ให้ กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่ด้วย

 

“ชัชชาติ” ถก “เศรษฐา” ยันสายสีเขียว 1-2 สัปดาห์สรุปก่อนชงมหาดไทย