ดันไทยฮับ" สุขภาพโลก" ภายในงาน ชู 7 จุดแข็ง ดึงรายได้ต่างชาติเข้าประเทศ

10 พ.ย. 2566 | 00:15 น.

“หมอชลน่าน” เปิดยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ชู 7 จุดแข็ง สร้าง 4 ศูนย์กลาง Medical  Hub ยกระดับกระทรวงสาธารณสุขสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ ด้าน “กูรู” แนะเทรนด์สุขภาพ 2024 เน้นป้องกันมากกว่ารักษา ในงาน Health & Wealth Expo 2023 จัดโดยเนชั่น

 

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Road to Thailand Medical Hub ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” ภายในงาน Health & Wealth Expo 2023 จัดโดยเนชั่น กรุ๊ป ระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงหนึ่งที่จะสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศ

ทั้งยังจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล วันนี้กระทรวงสาธารณสุขสามารถสร้างมิติทางสุขภาพได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายในเชิงนโยบายจากกระทรวงที่ดูแลสุขภาพ ยกระดับเป็นกระทรวงที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งเป็นมิติที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2569

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว

รั้งอันดับ 5 Medical Tourism Industry โลก

 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจุดแข็ง 7 ประการที่สำคัญที่มีศักยภาพ คือ

1. มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่นักท่องเที่ยวรู้จักโดยประเทศไทยติดอันดับจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากถึง 22.78 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1,125,072.88 ล้านบาท นอกจากนี้กรุงเทพฯยังครองแชมป์อันดับ 1 เมืองที่มีนักท่องเที่ยวจองมาพักมากที่สุดในโลก ขณะที่ ภูเก็ต และพัทยา ติดอยู่ใน 20 อันดับเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดอีกด้วย

2. มีความพร้อมของสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง ได้มาตรฐานในระดับโลก โดยมี Medical Index อยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก มี Medical Tourism Industry อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก แต่เราต้องสามารถขจัดปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ เรื่องของวัณโรคและอุบัติเหตุทางท้องถนนที่เรายังติดลบ 2 เรื่องนี้อยู่

 3. มีแพทย์และบุคคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ

4. อัตราค่าบริการในการรักษาพยาบาลมีความเหมาะสม

5. คนไทยมีเซอร์วิสมายด์ ในการบริการ ซึ่งจุดแข็งนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องรักษาเอาไว้ เพราะนับวันจะยิ่งถูกทำลายไป

6. ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน

และ 7. ไทยมีความโดดเด่นด้านการแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทยที่มีโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจำนวนมาก โดยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาทซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีมูลค่าตลาดอยู่กว่า 2 แสนล้านบาท ที่เหลืออยู่ในส่วนของภาคเอกชนในส่วนของเวชสำอาง

 

ยุทธศาสตร์สู่ “Medical Hub”

  สำหรับการก้าวขึ้นเป็น Medical Hub ได้นั้น ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ. 2560 - 2569 ของกระทรวงสาธารณสุขแบ่งออกเป็น 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่

1. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)

2. ศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล (Medical Service Hub)

3. ศูนย์กลางบริการวิชาการ (Academic Hub) โดยจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทั้งนำเข้าและส่งออก

4. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อปี 2559”

ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจสุขภาพ ในปี 2567 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย MOPH Plus ที่จะยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เป็น “30 บาท รักษาทุกที่” โดยกำหนดนโยบายมุ่งเน้น 13 เรื่อง มีเป้าหมาย 3 เรื่องใหญ่ กลุ่มแรก คือ โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน กลุ่มที่สอง คือ การวางรากฐานและสร้างระบบบริการให้กับประชาชน สุดท้าย คือ การยกระดับกระทรวงเพื่อสร้างเศรษฐกิจ โดยนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเป็น Medical Hub คือ นโยบายเศรษฐกิจสุขภาพโดยจะสร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ให้เป็น “หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน” ทุกจังหวัด พัฒนา Wellness center 500 แห่ง เป็นต้น

รวมถึงมีนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวโดยกำหนด Safety Tourism ทุกเขตสุขภาพ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มรายได้ จากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยชาวต่างชาติในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับตัวลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าทั้งในส่วน Medical Tourism และ Wellness Tourism

 ขณะสถานการณ์สถานพยาบาล และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ของไทยเองสามารถที่จะรองรับได้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนรวม 421 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยมากกว่า 90 เตียง มีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ รวม 20,163 แห่ง ประมาณ 50% เป็นสถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ มีการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการกิจการสปา นวด และดูแลผู้สูงอายุ มากกว่า 2.18 แสนราย

 พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดรางวัลคุณภาพสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับชาติ (Thailand Wellness Awards: TiWA) เพื่อยกระดับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล และส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย โดยมี 7 ประเภทรางวัล ตามประเภทของสถานประกอบการ เช่น สถานพยาบาลเวลเนส สถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ ร้านอาหารเวลเนส และโฮมสเตย์เวลเนส เป็นต้น

 อย่างไรก็ดี การพุ่งเป้าหมายดังกล่าวนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่คนไทยต้องไม่ถูกรบกวนเรื่องสิทธิ์การได้รับการบริการที่ดี และไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการสุขภาพของประชาชนในประเทศ เพราะกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรมของประชาชน โดยสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับคุณภาพบริการ

 ส่วนการหารายได้จะเป็นส่วนของสถานพยาบาลที่มีศักยภาพเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะช่วยยกระดับการบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ การจะพัฒนาให้ไทยเป็น Medical Hub ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการร่วมแรง ร่วมใจ และช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นได้

   นายแพทย์ชลน่าน กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ได้นั้น ส่วนหนึ่งจะต้องมีการประชาสัมพันธ์และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการแพทย์ ขอไทยมากขึ้น ทางคณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก ในการเข้าร่วมงาน งาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 13 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2568 โดยกำหนด Theme งานภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเป้าหมายชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี คาดว่าจะมีผู้เยี่ยมชมงานกว่า 28 ล้านคน งานนี้จึงเป็นโอกาสอันดีของไทย ที่จะช่วยผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub ต่อไป

ส่องเทรนด์สุขภาพ 2024

 นางสาวนทพร บุญบุบผา ประธานกรรมการบริหาร บจ.เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า เทรนด์สุขภาพที่เกิดขึ้นคือ การแพทย์เชิงป้องกัน (Prevention) สำหรับคนสุขภาพดี อาจเกิดจากความเครียดและสิ่งที่เจอในการดำเนินชีวิต โดยการตรวจยีนส์สามารถช่วยบอกได้ว่า เรามีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคและเป็นตัวชี้วัดระดับสุขภาพได้ว่าเราควรดูแลสุขภาพอย่างไร ทั้งนี้ การป้องกันโรคนำไปสู่การเชื่อมโยงอุตสาหกรรม Wellness เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับตัวเองอีกด้วย และในอนาคตเชื่อว่าไทยจะมีศูนย์ช่วยดูแลในส่วนของ Health & Wellness รองรับเทรนด์สุขภาพของผู้คนต่อไป

 ด้านนพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (แพทย์อายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ) กล่าวว่า อีกหนึ่งเทรนด์สุขภาพที่ต้องเกาะติด คือ โรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยที่มีอายุน้อยก็มีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากมะเร็ง สามารถดูจากยีนส์ได้ว่าร่างกายเราสามารถตอบสนองหรือรับการรักษาจากยาและการบำบัดรูปแบบใด ถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ควบคู่ไปกับการทำร่างกายให้แข็งแรง บริโภคอาหารที่ดี มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ

 นพ.พิเชฐ รุ่งศิริแสงรัตน์ โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งโรคที่อยู่ในเทรนด์สุขภาพเป็นเรื่องของ ระบบขับถ่าย การปัสสาวะเล็ดในผู้สูงวัย และในวัย 40 ปีเป็นต้นไป เป็นปัญหาที่มักเจอจากการประสบปัญหารถติด การเข้าประชุมหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องอั้นปัสสาวะ และไม่สามารถเข้าห้องนํ้าได้ ซึ่งในวัยกลางคนอาจมีระบบการขับถ่ายที่เสื่อมถอยลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้เสียความมั่นใจ และประสบปัญหาสุขภาพต่างๆตามมา

 เช่นเดียวกับพญ.ชลธิชา เชนชีวะชาติ โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ระบบขับถ่าย เป็นปัญหาที่เจอได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งหญิงและชาย เป็นปัญหาที่แอบซ่อนอยู่และอาจถูกมองเป็นปัญหาเล็กๆ แต่ปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งกายและใจ ซึ่งในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีในปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้