กระทรวงอุตสาหกรรมดัน"เอกภัทร"ขึ้นแท่นประธานกอน.แก้ปัญหาน้ำตาล

07 พ.ย. 2566 | 09:06 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมดัน"เอกภัทร"ขึ้นแท่นประธานกอน.แก้ปัญหาน้ำตาล เดินหน้าทำหนังสือเพื่อแจ้งนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้เห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้เสนอชื่อให้นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เข้ามาเป็นกรรมการในส่วนของผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการเปิดทางให้นายเอกภัทร เข้ามาเป็นประธานกอน.แทน ซึ่งขณะนี้ได้ทำหนังสือเพื่อแจ้งต่อนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้เห็นชอบต่อไป

สำหรับการแต่งตั้งดังกล่าวนั้น ในขั้นต่อไปทางกรรมการจะเป็นฝ่ายมาโหวตให้นายเอกภัทร วังสุวรรณ ขึ้นเป็นประธานกอน.แทน ตามระเบียบโดยทางปลัดได้ระบุเหตุผลถึงภารกิจที่มีมากทำให้ต้องเปิดทางให้นายเอกภัทรขึ้นมาดูแลแทน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดถึงเรื่องดังกล่าวแต่หากจะปรับเปลี่ยนก็คงไม่ได้ส่งผลกระทบเพราะนายเอกภัทรก็เป็นบุคคลที่รู้เรื่องอ้อยเป็นอย่างดี 

ขณะที่ กอน.เองมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร(กบ.)ที่ไม่ครบองค์ประชุมเพราะมีการเกษียณอายุราชการทำให้กบ.ยังไม่สามารถพิจารณาประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2565/66  ได้

“กบ.จะต้องเร่งพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2565/66 เพื่อให้กอน.เห็นชอบ ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องเร่งพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ขณะนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดจากการหารือของชาวไร่อ้อยกับกระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงการกำหนดวันเปิดหีบอ้อยฤดูผลิตปี 2566/67 ที่ชาวไร่มองว่าควรจะเป็นกลางเดือนธ.ค.นี้”
 

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยใน กอน.กล่าวว่า จากการหารือกับคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไปแล้วเมื่อ 6 พ.ย. ทุกฝ่ายจะร่วมกันหาตัวเลขต้นทุนที่ชัดเจนเพื่อที่จะกลับมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 10 พ.ย. ซึ่งหากเป็นไปได้จะพยายามให้ได้ข้อสรุปในวันดังกล่าวโดยความชัดเจนทั้งหมดจะต้องทันก่อนการเปิดหีบอ้อยช่วงธ.ค.นี้อย่างแน่นอน

“ชาวไร่อ้อยยังคงยืนยันถึงต้นทุนการผลิตอ้อยตามเดิมคือ 1,343 บาทต่อตัน ส่วนการที่รัฐจะหาแนวทางช่วยเหลือในรูปแบบใดนั้นคงจะต้องรอฟังเพราะต้องมองในแง่ของต้นทุนฝ่ายโรงงาน รวมไปถึงความชัดเจนถึงนโยบายส่งเสริมการตัดอ้อยสดที่ต้องแยกระหว่างการค้างจ่ายชาวไร่อ้อยในการผลิตปี 2565/66 ที่จบไปแล้ว 120 บาทต่อตัน และของใหม่คืองวดที่จะเปิดหีบก็ต้องชัดเจนว่าจะทำอย่างไรด้วย”