แห่ซื้อน้ำตาลทรายเกลี้ยงเชลฟ์ หลังเตรียมปรับราคาแพงขึ้น 4 บาท

27 ต.ค. 2566 | 01:24 น.

แห่ซื้อน้ำตาลทรายเกลี้ยงเชลฟ์ หลังเตรียมปรับราคาแพงขึ้น 4 บาท ระบุร้านสะดวกซื้อหาซื้อไม่ได้ ต้องหาซื้อจากร้านค้าปลีกค้าส่ง ตลาดสด ชี้มีของขายอยู่แต่ราคาก็จะแพงกว่าปกติ

รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังจากที่มีข่าวสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เตรียมประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาท ภายในเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกแพงขึ้น ส่งผลให้ร้านค้าโชห่วย ร้านค้าสะดวกซื้อ ประสบปัญหาน้ำตาลขาดตลาด ไม่มีของวางจำหน่ายบนชั้นวางขายหลายแห่ง ทำให้ชาวบ้าน ร้านอาหาร ร้านขนมหวาน เบเกอรี่ ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถหาซื้อน้ำตาลมาใช้ได้ หรือหากซื้อได้ก็มีราคาแพงกว่าเดิม

"เวลานี้น้ำตาลทรายตามร้านสะดวกซื้อหาซื้อไม่ได้ ต้องไปหาซื้อจากร้านค้าปลีกค้าส่ง หรือตามตลาดสด ซึ่งมีของขายอยู่แต่ราคาก็จะแพงกว่าปกติ เช่น ปัจจุบันขายปลีกอยู่ที่ กก.26-27 บาท สูงกว่าก่อนหน้านี้ที่ 24-25 บาท โดยสาเหตุเป็นเพราะคนแห่ซื้อมากขึ้น เพราะกลัวจะขึ้นราคา รวมถึงบางร้านก็เริ่มนำออกวางขายน้อยลง"
          
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ระบุว่า สถานการณ์น้ำตาลทรายตึงตัว และราคาแพง เริ่มเป็นมา 2-3 เดือนแล้ว หลังจากราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศหันไปส่งออกที่ขายได้ราคาดีกว่าแทน 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สินค้าน้ำตาลทรายไม่ถึงกับขาดตลาดหรือหาไม่ได้ แต่ต้องยอมจ่ายแพงขึ้นถึงจะมีของ เช่น น้ำตาลทรายกระสอบ 50 กก. ก็ปรับขึ้นราคามาแล้วหลายรอบ ครั้งละ 20-30 บาท จนปัจจุบันขึ้นมาเกินกระสอบละ 100 บาท

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำตาลทรายขาดตลาด และมีการปรับขึ้นราคา ว่า ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ รวมถึงหาข้อเท็จจริง และเตรียมหารือกับ สอน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลน้ำตาลทรายและอ้อยทั้งระบบ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า สอน.อยู่ระหว่างเสนอราคาน้ำตาลที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 66/67 ต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นยอมรับว่า มีแนวโน้มต้องปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานขึ้นประมาณ กก.ละ 4 บาท เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับสูงขึ้นมากมาอยู่ที่ กก.ละ 27 บาท ห่างจากราคาที่ใช้คำนวณหน้าโรงงานอยู่ที่ กก.ละ 19-20 บาท 
 

หากปล่อยปัญหาต่อไป เกรงว่าโรงงานจะหันไปส่งออก จนส่งผลให้น้ำตาลในประเทศตึงตัว หรืออาจขาดแคลนได้ โดยการปรับขึ้น 4 บาท จะแบ่ง 2 บาท เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชาวไร่อ้อย ไม่เช่นนั้นราคาน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในท้องตลาดที่สูงอยู่ในขณะนี้ เงินจะเข้าสู่โรงงานเพียงอย่างเดียว ชาวไร่อ้อยไม่ได้รับประโยชน์ เพราะยังถูกใช้คำนวณที่ 19-20 บาทอยู่ 

ส่วนอีก 2 บาท จะเข้ากองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมตัดอ้อยสด ต้องออกเป็นระเบียบเพิ่มเติมออกมา เพราะไม่อยากพึ่งเงินรัฐบาลปีละกว่า 7,000-8,000 ล้านบาท มองว่าควรมีกองทุนฯ เอง