อ่วม!น้ำตาลจ่อขึ้นราคา 4 บาท ดันต้นทุนสินค้าสูงขึ้น

26 ต.ค. 2566 | 01:03 น.

อ่วม!น้ำตาลจ่อขึ้นราคา 4 บาท ดันต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ระบุปรับขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 2 บาท และการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 2 บาท หวังนำช่วยผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล

รายงานข่าวระบุว่า ราคาน้ำตาลทรายในประเทศอาจปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานกิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาทเร็วนี้ หรือในเดือนตุลาคมนี้ โดยแบ่งเป็นการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น กก.ละ 2 บาท และการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล 

ซึ่งไม่ใช้วิธีการเผา เพื่อลดฝุ่นPM 2.5 ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศต้องปรับขึ้นตาม โดยปัจจุบันราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ กก.ละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกในท้องตลาด น้ำตาลทรายขาวธรรมดา กก.ละ 24 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 25 บาท

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติให้ปรับขึ้นราคา กก.ละ 4 บาทจริง จะมีผลให้ราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาปรับขึ้นเป็น กก.ละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ปรับขึ้นเป็น กก.ละ 24 บาท

ขณะที่ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 28 บาท และ กก.ละ 29 บาทตามลำดับ หลังจากที่ราคาหน้าโรงงานเพิ่งปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 1.75 บาท เป็น กก.ละ 19 บาท และ กก.ละ 20 บาท เมื่อเดือนมกราคม

อีกทั้งทำให้สินค้าอื่นที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบต้องปรับขึ้นราคาตาม โดยเฉพาะเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง นม และผลิตภัณฑ์ รวมถึงขนม เบเกอรี อาหาร

รายงานข่าวระบุอีกว่า ความพยายามปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศครั้งนี้ เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก จากราคาอ้อยที่สูงขึ้น เพราะผลกระทบจากภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งคาดว่าการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 66/67 ผลผลิตอ้อยอาจเหลือเพียง 75-80 ล้านตัน หรือลดลงประมาณ  10% จากปี 65/66 รวมถึงมีความต้องการทำให้ราคาน้ำตาลของไทยเท่ากับราคาตลาดโลก ที่ กก.ละ 27 บาท

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง และไม่ยุติธรรมสำหรับคนไทย เพราะไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่รายหนึ่งของโลก การบริโภคน้ำตาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก จึงสมควรแล้ว เหมือนผู้บริโภคประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ที่ซื้อน้ำมันราคาต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ผลิตมาก อีกทั้งไม่จำเป็นที่คนไทยต้องแบกรับภาระราคาที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับผู้บริโภคประเทศอื่นที่นำเข้าน้ำตาล

นอกจากนี้ การเก็บเงินเข้ากองทุนกก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลโดยไม่ใช้วิธีการเผา เพื่อลดฝุ่นPM2.5 นั้นก็ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคคนไทยเช่นกัน ที่จะต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โรงงานน้ำตาล และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องแก้ปัญหา แต่กลับผลักภาระให้ประชาชน

ส่วนราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก เป็นผลจากอินเดียผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก ประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตอ้อยลดลงมากจึงประกาศห้ามส่งออกน้ำตาลดิบน้ำตาลทราย ขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65-31 ต.ค.66 และล่าสุดเพิ่งประกาศขยายเวลาห้ามส่งออกต่อไปอย่างไม่มีกำหนด จึงยิ่งผลักดันให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้น