เศรษฐกิจไทยติดหล่ม โค้งท้ายสุดท้ายฝืด ส่งออกสลบ น้ำมัน-เงินเฟ้อพุ่ง

21 ต.ค. 2566 | 09:14 น.

เศรษฐกิจไทยผวา สงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่อฉุดจีดีพีปีนี้ต่ำกว่าที่คาด กระทบเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อพุ่งรอบใหม่ ส่งออกติดลบ อสังหาฯฟื้นตัวไม่เต็มที่ ช่วงท้ายปีลุ้นท่องเที่ยวช่วยพยุง

 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยหรือ GDP ในปี 2566 โดยจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 2.7 % จากประมาณการเดิมที่ 3.4% และปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2567 ลงมาที่ระดับ 3.2% จากเดิม 3.6%

IMF ชี้ให้เห็นว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ (กลุ่มฮามาส) ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีการปรับลดคาดการณ์ GDP

อีกทั้ง ความขัดแย้งดังกล่าว จะส่งต่อราคานํ้ามันในตลาดโลกอาจจะพุ่งขึ้นไป 10 % จากปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และเงินเฟ้อทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นด้วย

  • ปัจจัยเสี่ยงฉุดจีดีพี

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (SCBT) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า SCBT มองจีดีพีของไทยปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3% โดยปีหน้าภาพใหญ่การขยายตัวจีดีพีคาดว่าจะอยู่ที่ 4.2% โดยภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ แต่ระยะใกล้ในช่วง 3 เดือนนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) เป็นช่วงสำคัญที่จะประเมินได้ว่า ประมาณการจีดีพีที่ 4.2% ในปีหน้าจะไปต่อได้หรือไม่

“ปัจจัยบวกในปีหน้า คือ ถ้ามีความชัดเจนจากรัฐบาลทั้งเรื่องนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาจะต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคมไปถึงต้นปีหน้า และอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ในระดับตํ่าอีก 3-6 เดือน”

อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อพลิกกลับมาเพิ่มสูงขึ้น หรือเพิ่มมากกว่าคาดอาจจะเป็นปัจจัยทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น และจะลดความสามารถในการบริโภคของประชาชน

สำหรับโค้งสุดท้ายของปีนี้ อยากรอฟังรายละเอียดจากรัฐบาลว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา แต่สิ่งที่อยากจะเห็นในปีหน้าคือ นโยบายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาใกล้ก่อนระดับโควิด-19 ซึ่งขณะนี้แม้จะฟื้นตัวแต่ยังไม่เต็มที่ เพราะฟังจากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจนโยบายวีซ่าฟรีจะมีผลบวกกับนักท่องเที่ยวจีนได้มากกว่าหรือไม่ หรือนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เป็นอีกหนึ่งตลาดที่รัฐบาลกำลังโฟกัสและรัฐบาลมีนโยบายขยายเวลา ไม่ต้องใช้วีซ่า 90 วันจาก 30 วันยังต้องติดตามดูผล

เศรษฐกิจไทยติดหล่ม โค้งท้ายสุดท้ายฝืด ส่งออกสลบ น้ำมัน-เงินเฟ้อพุ่ง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสะท้อนว่า ราคาห้องพักยังตํ่ากว่าก่อนช่วงโควิดราว 20% บ่งชี้ว่าราคาห้องพักไม่ได้กลับไปก่อนโควิด ซึ่งอาจจะขอดูสัก 1-2 เดือน โดยเดือน ธ.ค.อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นทั้ง “ทัวร์กรุ๊ปหรือชาร์เตอร์ไฟลท์” จากจีนจะเข้ามามากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้าหรือไม่

“มองแนวโน้มภาคท่องเที่ยวจะดีขึ้น ทิศทางของเงินบาทจะค่อยๆแข็งค่าขึ้น แต่ระหว่างทางอาจจะผันผวนด้วยปัจจัยต่างๆข้างต้น ซึ่งในแง่ของผู้ประกอบการยังเผชิญกับความผันผวนทิศทางดอกเบี้ยและค่าเงิน เหล่านี้เป็น ต้นทุนไม่มีทิศทางที่ชัดเจน เพราะวันนี้เป็นช่วงกำลังจะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีความผันผวนทำให้ยากที่จะมั่นใจในการวางแผนและบริหารผลประกอบการ”

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทยังผันผวน แม้จะเชื่อว่าเงินบาทจะค่อย ๆ แข็งค่าปลายปีนี้ต่อเนื่องไปปีหน้า โดยมองเงินบาทปลายปีนี้เคลื่อนไหวแข็งค่าที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ แต่อาจมีความผันผวน จากปัจจัยราคานํ้ามันโลก หรือผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยจากสายการบินมีต้นทุนแพงขึ้น และราคานํ้ามันนำเข้าที่แพงขึ้นอาจกระทบต่อดุลการค้า และด้วยความผันผวนที่ยังมีอยู่ของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงดอกเบี้ยสูงถึงเมื่อไร หรือมีโอกาสจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ย เหล่านี้ยังมีความไม่แน่นอนในหลายมุม

  • กังวลราคานํ้ามันพุ่งต่อเนื่อง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยเผยว่า ส่วนใหญ่กังวลสงครามอิสราเอล-ฮามาส จะทำให้ราคานํ้ามัน ปรับตัวสูงขึ้นและธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือประเด็นพลังงานจะกลับมาหรือไม่ เพราะฝั่งยูโรโซนจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปยังมีประเด็นดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง หรือหากเงินเฟ้ออาจจะมีประเด็นนโยบายการเงินซึ่งเป็นความเสี่ยงโดยตรงต่อค่าเงินบาท ถ้ายูโรอ่อนค่าจะลดการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งยอมรับว่าเรื่องสงครามยังมีความไม่แน่นอน แต่ทิศทางเงินบาทช่วงที่เหลือ มีแนวโน้มอ่อนค่าแตะ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากสงครามยืดเยื้อเฟดอาจจะต้องเข้มงวดเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้ออีกรอบ

นอกจากนี้สิ่งที่ตลาดกังวล กรณีเงินบาทอ่อนค่าอาจจะส่งผลต่อการท่องเที่ยว เพราะชาวอาหรับเข้ามาท่องเที่ยวไทยและใช้บริการโรงพยาบาลของไทย โดยสถานการณ์สงครามอาจเป็นบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานว่า สถานการณ์ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคานํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 2% หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขนํ้ามันดิบคงคลังสหรัฐอเมริกาสิ้นสุด ณ วันที่ 13 ต.ค.2566 ปรับตัวลดลง 4.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 419.7 ล้านบาร์เรล

อีกทั้ง ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่อาจยืดเยื้อรุนแรงขึ้น หลังเกิดเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลในฉนวนกาซา ขณะที่นายฮุนเซน อาเมียร์ อับดุลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน เรียกร้องให้องค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) ออกมาตรการควํ่าบาตรการส่งออกนํ้ามันดิบไปยังอิสราเอล เพื่อตอบโต้ หลังอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซา ล่าสุดราคานํ้ามันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

  • ส่งออกไม่มีปฏิหาริย์คาดติดลบ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก (+2.6%) เป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทยช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ยังติดลบที่ 4.5% ทาง สรท.คาดการณ์การส่งออกไทยทั้งปีนี้จะอยู่ในกรอบ -1.0% ถึง -1.5% จากปัจจัยเสี่ยงส่งออกไทยยังมีอยู่มาก ทั้งจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรปยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ล่าสุดมีปัจจัยเสี่ยงใหม่เพิ่มจากสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ปะทุขึ้นและต้องจับตาว่าจะขยายวงหรือไม่ หากขยายวงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าไทย-ตะวันออกกลางตามมา

“ปัจจัยบวกส่งออกไทยเวลานี้ มีเรื่องเดียวคือเงินบาทที่อ่อนค่าที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สรท.คาดการณ์ส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 1% แต่มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ต้องลดคาดการณ์ลง ส่วนแนวโน้มส่งออกไทยในปี 2567 ยังคาดเดาได้ยาก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องรอดูสถานการณ์ในเดือนธันวาคมน่าจะชัดเจนและตั้งเป้าหมายได้”

  • ศก.โลกหดตัวคนจนลง

 นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ มองว่า ขณะนี้การเมืองยังไม่ค่อยแน่นอน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโลก ที่มีการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในภาคพื้นแปซิฟิก ภาคพื้นยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงตะวันออกกลางด้วย ภาพรวมเหล่านี้ทำให้คนมีรายได้ที่ลดลงมาก พูดง่าย ๆ คนส่วนใหญ่ในโลกจนลง พอจนลงการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการรักษาก็จะลดลง เป็นสิ่งที่ไม่ผิดความคาดหมายเท่าไร เห็นได้จากปัจจุบันจำนวนคนไข้ต่างชาติยังน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนปี 2567 หลายคนจะพูดถึง vuca economy คือเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เช่น การเกิดสงครามในหลายพื้นที่ ซึ่งการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส ไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์จะลุกลามไปมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่ทราบแน่ ๆ คือ เศรษฐกิจของโลกโดยรวมไม่ดีแน่ เพราะฉะนั้นกำลังซื้อของคนโดยรวมจะลดลง อะไรที่เป็นสินค้าที่พอจะลดค่าใช้จ่ายได้ ก็เป็นสิ่งที่เขาจะลดก่อน แต่โดยปกติแล้วน่าจะเป็นสินค้าที่เป็นของลักชัวรีต่าง ๆ เป็นต้น

  • ภาคอสังหาฯจี้ยกเลิก LTV

นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC มองว่า ในช่วงไตรมาส 4 ไปจนถึงปีหน้าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แม้ที่ผ่านมา มองว่าในภาพรวมเศรษฐกิจ และกำลังซื้อยังฟื้นตัวไม่สุดทาง แต่คาดหวังว่ามีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น รวมถึงมาตรการเด่น ๆ ที่รัฐบาลออกมากระตุ้นกำลังซื้อ ทั้งเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยมองว่าแม้จะยังอยู่ในอัตราที่สูงแต่ นับจากนี้ไม่น่าจะหวือหวามากนัก

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ANAN สะท้อนว่า ไตรมาส 4 และปีหน้ามองว่าตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวมีกำลังซื้อจากต่างชาติกลับเข้ามาเกือบจะเป็นปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯคาดว่าจะมาในปีหน้า โดยบริษัทเสนอว่า ควรยกเลิก LTV การเปิดให้ต่างชาติมีโอกาสซื้ออสังหาฯไทยมากขึ้นภายใต้กฎหมายไทย และจัดเก็บภาษีในอัตราต่างชาติเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ อาทิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นายวรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทตัวกลางซื้อ-ขายอสังหาฯ บนแพลตฟอร์ม พร็อพเพอร์ตี้เทค รายแรกของไทย ระบุว่า อยากฝากรัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จากราคา 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย ที่สำคัญควรยกเลิก LTV ผ่อนปรนต่างชาติ นำเงินเข้ามาในไทยง่ายขึ้นเพิ่มโควตาซื้อคอนโดมิเนียม เนื่องจากอสังหาฯ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ

  • ททท.ยังมั่นใจนักท่องเที่ยวตามเป้า

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าเมื่อดูจากสถานการณ์ขณะนี้ททท.มั่นใจว่าในปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ 25-28 ล้านคนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีหน้าเป็นช่วงไฮซีซัน โดยเฉพาะเดือน ต.ค.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ตํ่ากว่า 2 ล้านคน ส่วนเดือน พ.ย.-ธ.ค. คาดมีเกิน 2.5 ล้านคนต่อเดือน หลังจากภาพรวมปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศช่วงตารางบินฤดูหนาว 2566/2567 ปัจจุบันพบว่ากลับมากว่า 60% แล้ว

ทั้งนี้ ตลาดที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างโดดเด่นเกิน 80-90% เทียบกับเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด จะมีนักท่องเที่ยวมาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ส่วนตลาดอื่น ๆ ที่มีการเติบโตดีกว่ายุคก่อนโควิดคือ ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงอิสราเอลที่ประเมินว่าจะได้จำนวนนักท่องเที่ยวตามเป้าหมาย 2 แสนคนในปีนี้

ประกอบกับมาตรการวีซ่าฟรีจีน และคาซัคสถาน ที่จะมีผลไปจนถึงวันที่ 29 ก.พ.ปีหน้า และการขยายระยะเวลาพำนักในไทยของนักท่องเที่ยวรัสเซียจากเดิม 30 วันเป็น 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.66-30 เม.ย.67 จะยังช่วยกระตุ้นให้รัสเซียเดินทางเข้าไทยช่วงไฮซีซันนี้มากขึ้น

ส่วนในปีหน้าททท.ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 200 ล้านคนครั้ง

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ ล่าสุดทะลุเป้าหมาย 25 ล้านคนแน่นอนแล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเดือนละ 2 ล้านคน ทั้งปีน่าจะได้ใกล้เคียง 27 ล้านคน แต่จะทะลุถึงเป้าหมายขึ้นสูงสุดที่ 28 ล้านคนหรือไม่ ต้องดูอีกที เนื่องจากทุกตลาดมีแนวโน้มเติบโตดี ยกเว้นตลาดนักท่องเที่ยวจีน ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน เพราะน่าจะได้ที่ราว 4 ล้านคน ประกอบกับช่วงไฮซีซันนี้รัฐออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวสำหรับต่างชาติ เช่นวีซ่าฟรีจีน ขยายเวลาพำนักนักท่องเที่ยวรัสเซีย

ส่วนสงครามอิสราเอลและฮามาส ยังต้องจับตาดู ถ้าไม่ขยายวงกว้าง ก็ไม่น่าจะมีผลต่อตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปในช่วงปลายปีนี้

ตลาดไอทีโตสวนทาง

 นายปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) (CPW) เจ้าของร้าน iStudio และ .Life (ดอทไลฟ์) กล่าวว่ามองว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ตลาดไอทีมีการเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา และส่งผลไปถึงปีหน้า เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคเริ่มกลับมา อีกทั้ง ตลาดดิจิทัลไลฟ์สไตล์มีเติบโตมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมาทำกิจกรรมได้ปกติ ทั้งการเดินทาง ท่องเที่ยว

 “ปีนี้ สินค้า Apple ไม่มีปัญหาขาดตลาดเหมือนปีที่แล้ว มีสินค้าเข้ามาเติมต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดเนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการสูง แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อเริ่มกลับมา ขณะที่ต้นปีหน้ามีโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลออกมา แม้จะมีกระแสข่าวว่าไม่สามารถนำมาซื้ออุปกรณ์ไอที หรือ สมาร์ทโฟน ที่เป็นสินค้านำเข้าได้ แต่ท้ายสุดแล้วผู้บริโภคจะใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ทำให้มีเงินเก็บมาซื้อสินค้าไอที ที่มีความจำเป็น”