"หนี้ครัวเรือน"ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 3 เดือนติด

20 ต.ค. 2566 | 05:39 น.

"หนี้ครัวเรือน"ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 3 เดือนติด ระบุปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เว้นต้นทุนประกอบการ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2566 ว่า อยู่ที่ระดับ 90.0 ปรับตัวลดลงจาก 91.3 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2566 ที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง 

ขณะที่อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจในภูมิภาค และการอ่อนค่าของเงินบาทเนื่องจากเงินทุนไหลออกจากประเทศในช่วงที่ผ่านมาจากความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น 

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 
"หนี้ครัวเรือน"ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 3 เดือนติด

นอกจากนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้ารวมถึงกระทบต่อวัตถุดิบสินค้าเกษตร 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนดังกล่าวนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการรัฐช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนโดยการปรับลดราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และปรับลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 เป็น 3.99 บาท/หน่วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมและค่าขนส่งลดลง สะท้อนจากดัชนีฯ ต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า รวมทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวยังคงส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศ 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,324 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท. ในเดือนกันยายน 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 84% ,อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 69.5% และเศรษฐกิจในประเทศ 45.6%

ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 55.2% ,สถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.5% และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 41.8%  

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.3 ปรับตัวลดลงจาก 99.5 ในเดือนสิงหาคม โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากความกังวลต่อแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอนุมัติวีซ่าฟรีชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งคาดว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย 

  • เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ รวมถึงเร่งรัดการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยเร็ว
  • เสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมศุลกากร เข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
  • เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินคืนในระบบ Net Metering และสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewal Energy) เพื่อรองรับความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)