"ทัวร์จีน"เช่าเหมาลำ บินตรงเที่ยวตรัง สะดุด! MOU ยังไม่ผ่าน"มท.-กต."

27 ก.ย. 2566 | 02:49 น.

เที่ยวบินเช่าเหมาลำ จีน-ตรัง ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ สะดุด ผู้ว่าฯแจง เอกชนทำผิดขั้นตอน ทั้งต้องส่ง MOU ให้กระทรวงมหาดไทย-ต่างประเทศ ตรวจก่อน เพื่อเป็นไปตามระเบียบราชการ

จากกรณีที่สมาคมการค้าชายแดนจีนตอนใต้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยนายพิทยาสัณห์   เดชประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนและค้าข้ามแดนด้านจีนตอนใต้   สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้นำคณะภาคเอกชนจากมณฑลยูนนาน   มณฑลเสฉวน และมณฑลกุ้ยโจ  สาธารณรัฐประชาชนจีน   มาเยือนจังหวัดตรัง

คณะผู้ประกอบการเข้าพบกับนายขจรศักดิ์  เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง  นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกอบจ.ตรัง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตรัง  และผู้บริหารโรงแรมเรือรัษฎาโฮลเต็ล ได้ทำบันทึกความร่วมมือได้ลงทำบันทึกข้อตกลง(MOU)สนับสนุนการท่องเที่ยวไทย-จีน  ความร่วมมือด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การศึกษา  

โดยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจีนจะนำนักท่องเที่ยวขึ้นเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำจากจีน บินตรงมาลงสนามบินตรัง ถือฤกษ์วันชาติจีน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เปิดเส้นทางบินเที่ยวปฐมฤกษ์ และจะส่งนักท่องเที่ยวมาจังหวัดตรังอย่างต่อเนื่อง
 

ท้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลและเอกชนจีนได้เชิญ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (มอบให้นายภูวณัฐ สมใจ รองผู้ว่าฯตรัง ไปแทน )นายกอบจ.ตรัง และภาคเอกชน ไปเยือนสร้างสัมพันธไมตรีเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับ เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจ้ว  

การเดินทางไปจีนครั้งนี้ ทางฝ่าย นายกอบจ.ตรังและรองผู้ว่าฯตรัง ไม่ได้เซ็น MOU 5 ข้อ ให้กับทางการจีน ทำให้ทางการจีนและเอกชนที่จะนำนักท่องเที่ยวมาบินมาเที่ยวตรังนั้น ยังไม่มีความชัดเจน  ในการเปิดเส้นทางบิน 3 เส้นทาง  คุนหมิง-ตรัง  เฉิงตู-ตรัง และฉงชิ่ง-ตรัง

นายบุ่นเล้ง  โล่สถาพรพิพิธ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังเปิดเผย ว่า การไปเยือนจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา จังหวัดตรัง มีตน นายภูวณัฐ  และภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวเดินทางไปตามคำเชิญ  แต่บันทึกข้อตกลงหรือ MOU นั้นที่มีด้วยกัน 5 ข้อ ทำกันระหว่างเมืองกุ้ยหยาง กับ จังหวัดตรัง นั้น

ทางผู้บริหารเมืองกุ้ยหยาง เซ็นบันทึกข้อตกลง แต่ตนเห็นว่า ผู้ลงนามนั้น เป็น จังหวัดตรัง   ราชอาณาจักรไทย จึงไม่กล้าเซ็นลงนาม  เพราะตนมีตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังเท่านั้น   หากเป็นจังหวัดตรัง  ประเทศไทย ผู้ว่าหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นคนเซ็น วันดังกล่าวจึงไม่ได้เซ็น MOU กับเมืองกุ้ยหยาง

โดยประสานกับเจ้าหน้าที่จีนเมืองกุ้ยหยางแล้วว่า กลับมาถึงเมืองไทยจะแก้ไขแล้วเซ็นไปให้เพื่อกระชับความร่วมมือ ทั้ง 2 เมืองคือ เมืองกุ้ยหยาง จีน และ จังหวัดตรัง ประเทศไทย 

นายบุ่นเล้ง กล่าวอีกว่า เมื่อกลับมาถึงตรังหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง หารือไปยังกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งว่าเซ็นไม่ได้ ต้องหารือกับกระทรวงต่างประเทศ (กต.)จนถึงวันนี้ตนก็ยังไม่เซ็น วันที่ 1 ตุลาคม นี้ ทางจีนอาจจะไม่นำนักท่องเที่ยวบินตรงมาลงสนามบินตรัง ตามแผนที่วางไว้ เพราะทางจังหวัดตรัง ยังไม่ได้เซ็นบันทึกความร่วมมือกับทางจีน

 ตนในฐานะนายก อบต.ตรัง ยินดีให้ความร่วมมือกับจีนทุกอย่าง แต่ติดตรงที่ ผู้ว่าฯตรัง และ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นบอกว่าเซ็นMOUไม่ได้ ทำให้ทุกอย่างช้าหมด ผู้ว่าฯตรังจะนำเรื่องเข้า กรอ.จังหวัดเพื่อหารือในเรื่องนี้อีก

\"ทัวร์จีน\"เช่าเหมาลำ  บินตรงเที่ยวตรัง สะดุด!  MOU ยังไม่ผ่าน\"มท.-กต.\"

นางวิไลพร  พิตรปรีชา รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเรือรัษฎา จำกัด เปิดเผยว่า การเดินทางไปครั้งนั้นทางการจีนก็เชิญตนเองร่วมคณะไปด้วย ในวันดังกล่าว ทางจังหวัดตรังเรา โดยนายกอบจ.ตรังและทางรองผู้ว่าฯตรัง ก็ไม่ได้เซ็น MOU กับทางจีน รายละเอียดนั้นตนไม่ทราบ  มาถึงตอนนี้ไม่แน่ใจว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2566นี้ ทางจีนจะเปิดบินตรงนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจังหวัดตรังหรือไม่ เพราะในขณะนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะทาง จังหวัดตรังและ อบจ.ตรัง ยังไม่เซ็น MOU ให้กับทางการจีนแต่อย่างใด

ขณะที่นายขจรศักดิ์  เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เหตุที่จังหวัดและ อบจ.ตรัง ยังไม่ได้เซ็น MOUกับเมืองกุ้ยหยาง เพราะต้องขอความเห็นจากกระทรวงมหาดไทย (มท.)และ กระทรวงต่างประเทศก่อน จะเซ็นลอย ๆ กันไม่ได้ ที่ผ่านมา ทางสภาหอการค้าไทยและเอกชนทั้งไทยและจีน ไม่ได้นำเสนอเรื่องผ่านระบบราชการไทยมาก่อน

มีเพียงเอกสารมา 1 ใบลอย ๆ ไม่มีที่มาที่ไปหรือมีหนังสือนำส่งมาให้  ทางจังหวัดและ อบจ.ตรัง จึงไม่ได้เซ็น MOU ให้กับเมืองกุ้ยหยาง เพราะข้อความ 4 ข้อ ด้านเศรษฐกิจ  การค้า  การศึกษา การท่องเที่ยว ระบบนิเวศน์และ การเกษตร ในรายละเอียดนั้น เป็นความร่วมมือ “รัฐบาลจีนต่อรัฐบาลไทย”มากกว่า ไม่ใช่อำนาจ “เมืองต่อเมือง”

ในเรื่องนี้ตนเองได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง"คณะกรรมการรับนักท่องเที่ยว"  เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการ "ฟรีวีซ่า"กับนักท่องเที่ยวจีน  คาซัคสถาน  ที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวจังหวัดตรังและประเทศไทย ดังนั้นตนเองก็ให้มีการบรรจุเรื่องเข้าประชุม กรอ.จังหวัด เรื่องที่ จังหวัดตรัง และเอกชน ที่จะไปเซ็น MOU กับ เมืองกุ้ยหยางและเอกชนจีน เพื่อให้เข้าสู่ระบบราชการ ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างประเทศ รับทราบด้วย

 
หากทางจีนจะนำเครื่องบินเช่าเหมาลำบินลงสนามบินตรัง ทางตนเองทำหนังสือไปถึง  บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) แล้ว เพื่อที่จะให้บริการน้ำมันเติมเครื่องบิน โดยปตท.จะใช้รถบรรทุกน้ำมันเป็นรถโมบายมาเติมน้ำมันเครื่องบินให้ไปแต่ละเที่ยวบิน หากมีเครื่องบินมาเติมน้ำมันบ่อย ๆ  ทาง ปตท.จะตั้งสถานีบริการน้ำมันสำหรับเครื่องบินที่ ท่าอากาศยานตรัง

นอกจากนั้นตนเองได้มีหนังสือไปถึง กรมท่าอากาศยานเพื่อจะใช้อาคารที่พักผู้โดยสารอาคารปัจจุบัน   รับเที่ยวบินระหว่างประเทศจากจีนที่จะมาเปิดทำการบินใช้เที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำมาบินลงที่ตรัง  ส่วนเรื่องที่เตรียมความพร้อม เจ้าหน้าที่ประจำสนามบินรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ เช่น ด่านตรวจคนเข้าเมือง   ด่านศุลกากร   ด่านกักกันพืชโรคและสัตว์  เจ้าหน้าที่เหล่านี้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ หลังจากนี้ตนจะเร่งเรื่องการเซ็น MOU ระหว่าง ตรัง-กุ้ยหยางให้แล้วเสร็จ

นายขจรศักดิ์  กล่าวตอนท้ายว่า  ตนเองยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ในการรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ตรัง และประเทศไทยของเรา ตามนโยบายของรัฐบาล และในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตรังก็เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวอนุญาตให้นักท่องเที่ยว เข้าเที่ยวเกาะ ชายทะเล ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมได้ 8 เดือนเต็ม

อีกทั้งเกาะกระดาน ตั้งที่ อ.กันตัง  จ.ตรัง  ได้รับการประกาศและจัดอันดับโดยเวฟไซต์ “ World beach guide” จัดให้เกาะกระดานเป็นเกาะที่ดีและชายหาดสวยที่สุดติดอันดับ 1 ของโลก ประจำปี 2566 ทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศต่างหลั่งไหลเข้ามาชมความสวยงามของเกาะกระดานกันไม่ขาดสาย

ทางจังหวัดและอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เตรียมความพร้อมในการจัดระเบียบการเข้าเที่ยวเกาะกระดานอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความแออัดของนักท่องเที่ยวและเรือโดยสาร ทุกอย่างจังหวัดดำเนินการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว