“รมว.อุตสาหกรรม”ดันเศรษฐกิจใต้มุ่งเป้า 3 กลุ่มเพิ่มความสามารถแข่งขัน

22 ก.ย. 2566 | 05:54 น.

“รมว.อุตสาหกรรม”ดันเศรษฐกิจใต้มุ่งเป้า 3 กลุ่มเพิ่มความสามารถแข่งขัน ทั้งเหมืองแร่-ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป-กลุ่มปาล์มน้ำมันและยางพาราสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นนักธุรกิจอัจฉริยะ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตฯจะดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม
ในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 

  • การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา 
  • การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ 
  • การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ ขณะเดียวกันก็จะเร่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะทุกจังหวัดทั่วประเทศ


ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะมุ่งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ เช่น กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางธุรกิจในระดับสากล

สำหรับการส่งเสริมการพัฒนาแร่จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) ยังได้มีการปรับปรุงกระบวนการอนุมัติ อนุญาต และการกำกับดูแลให้มีความสะดวกรวดเร็ว มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวก อาทิ การนำระบบนำเข้า ส่งออกแร่ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการชำระค่าภาคหลวงแร่ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DPIM-Fin) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดลองใช้งาน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการอนุญาตอาชญาบัตร และประทานบัตรผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น 

“รมว.อุตสาหกรรม”ดันเศรษฐกิจใต้มุ่งเป้า 3 กลุ่มเพิ่มความสามารถแข่งขัน

การส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้กำหนดเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อยกระดับการทำเหมืองแร่ให้มีมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการปรับปรุงกลไกการอนุมัติ อนุญาต ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการ ในการออกแบบกลไกการทำงาน เพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมือง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า มีการสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบแร่ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่คำนึงถึงการสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น 

อย่างไรก็ดี การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ ทั้งกาแฟโรบัสต้า และทุเรียน การแปรรูปผลิตภัณฑ์และยกระดับกระบวนการผลิตให้ทันสมัย เช่น บรรจุภัณฑ์ชีวภาพหรือสารสกัดที่มูลค่าสูง ส่งเสริมการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ แบบควบคุมอุณหภูมิ หรือ Cold Chain Logistics ให้มีศักยภาพสูง ลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในระบบขนส่ง 

ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดนักธุรกิจเกษตรหรือพัฒนานักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพรายใหม่ ๆ ในพื้นที่มากยิ่งขึ้น พร้อมผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power และกิจกรรมเพื่อเป็นเวทีขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือการเพิ่มช่องทางการตลาดในรูปแบบงานแสดงสินค้า (Mice) เพื่อเชื่อมโยงภาคผลิตและเกษตรในพื้นที่  

ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีโครงการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ผ่านการให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐาน การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมและความสามารถพัฒนากระบวนการผลิตเข้าสู่อาหารปลอดภัย (Food Safety) 

และเข้าสู่มาตรฐานฮาลาล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ด้วยกลไกของศูนย์แปรรูปเกษตรอุตสาหกรรมดีพร้อม (Industry Transformation Center) หรือ ITC DIProm Center ที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวน 13 แห่ง แบ่งเป็น ส่วนกลาง 1 แห่ง และส่วนภูมิภาค 12 แห่ง 

อย่างไรก็ดี ITC DIProm จะให้บริการกับผู้ประกอบการ ทั้งด้านเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ โดยการผลิตสินค้าต้นแบบ เพื่อนำไปทดสอบตลาดและปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการผ่านศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center : Thai-IDC) ที่จะเชื่อมโยงบูรณาการบริการด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์กับหน่วยงานเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างครบวงจร 

ด้านแนวทางในการเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมัน กระทรวงอุตฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลแบบครบวงจรในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและชุมพร โดยจะมีการนำงานวิจัยและพัฒนาการแปรรูปน้ำมันปาล์มให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ
การสกัดน้ำมันปาล์มดิบโดยการพัฒนาพันธุ์ปาล์ม การใช้กลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ในการบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็งในทุกมิติ  

ขณะที่ยางพาราได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างครบวงจร เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีโรงงานผลิตถุงมือยางที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ โดยการนำงานวิจัยและการแปรรูปให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ และอุปกรณ์การแพทย์  ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาการผลิตยางพาราที่มีคุณภาพและให้ได้น้ำยางมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมด้านเงินทุน เทคโนโลยีและเครื่องจักรในการผลิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราให้หลากหลายมากยิ่งขึ้นเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระทรวงอุตฯ ได้จัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา ร่วมกับ ภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร"