สสว.จ่อชงครม.ปัดฝุ่นโครงการค้ำประกันเงินกู้ SMEs ท่องเที่ยว - ส่งออก

21 ก.ย. 2566 | 00:29 น.

สสว.จ่อชงครม.ปัดฝุ่นโครงการค้ำประกันเงินกู้ SMEs ท่องเที่ยว - ส่งออก มุ่งให้เงินไปพัฒนาธุรกิจ รองรับการเติบโต เล็งกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ ไม่เคยมีหนี้เสียมาก่อน แต่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดยอม (สสว.) เปิดเผยภายหลังการจัดกิจกรรมเผยแพร่โครงการและการมอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่น ในการดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แคมเปญ "SME ปังได้ตังค์คืนก้าวสู่ ปีที่ 2" ว่า สสว. เตรียมฟื้นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่มบริการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการพักหนี้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs)

โดยเตรียมพิจารณาและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งในเร็ววันนี้ ซึ่งมีวงเงินรวมประมาณ 980 ล้านบาท เพื่อค้ำประกันให้กับ SMEs กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้เงินไปพัฒนาธุรกิจ รองรับการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอีกประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการกลุ่มส่งออก

"ต้องเรียนว่าโครงการดังกล่าวได้มีการเตรียมเสนอกับ ครม. ไปแล้วก่อนหน้านี้ และตั้งใจจะออกเป็นของขวัญวันวาเลยไทน์ที่ผ่านมา แต่วาระก็ยังค้างอยู่และ สสว. ได้ดึงกลับมาเพื่อเตรียมจะเสนอใหม่อีกครั้ง"

สำหรับเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมโครงการได้ จะต้องเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพการทำงาน โดยคาดว่าจะใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโรในกลุ่ม Code 21 ที่เป็นผู้ประกอบการไม่เคยมีหนี้เสียมาก่อน แต่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 จึงทำให้เกิด NPL ซึ่งยังถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ 

ส่วนการค้ำประกันเงินกู้นั้น จะกำหนดเพดานตามสัดส่วนที่เงิน สสว. เหลือ แต่หากทางรัฐบาลมองเห็นว่าเป็นนโยบายที่สำคัญและจะเติมเงินเข้ามาในระบบก็ได้โดยจะเป็นการค้ำประกันผ่าน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)

นายวีระพงศ์ กล่าวถึงกิจกรรมเผยแพร่โครงการและการมอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่น ว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมากโดยปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าสู่ระบบ BDS กว่า 18,000 ราย ซึ่งหากผู้ประกอบการได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจเสร็จสิ้นแล้วจะสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท โดยหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ(BDSP)ที่ปัจจุบันเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าว มีจำนวนมากกว่า 150 หน่วยงาน และมีการเสนอ การบริการพัฒนาทางธุรกิจบนระบบมากกว่า 300 บริการ จึงเห็นได้ว่าหน่วยงานพันธมิตรผู้ให้บริการทางธุรกิจ เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่จะหนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจให้ได้มาตรฐาน 
 

อย่างไรก็ดี แผนการดำเนินงานในปีนี้ สสว. เตรียมที่จะขยายความร่วมมือกับหน่วยงานผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นการคัดเลือกผ่านทั้งเครือข่าย สสว. และเป็นการเสนอจากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าระบบเอง เพื่อให้การทำงาน SMEs คล่องตัวมากขึ้น โดยจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาต การสนับสนุน พัฒนาวิชาชีพ 

รวมถึงประสานงานเพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดขั้นตอนหรือลดค่าใช้จ่ายได้ และจากความร่วมมือของกลุ่ม BDSP สสว. จึงได้มีการมอบรางวัลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอี เป็นต้น