เดลต้าฯ ชี้ช่องฝ่าความท้าทายประเทศไทย ยกระดับนวัตกรรมตอบโจทย์เทรนด์โลก

20 ก.ย. 2566 | 09:30 น.

“โลกเปลี่ยน ไทยปรับ” คือกุญแจสำคัญที่ “เคเค ชอง” คีย์แมน บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ นำเสนอเป็นแนวทางฝ่าความท้าทายประเทศไทย ท่ามกลางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงและภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้โลกแบ่งขั้ว บริษัทเทคโนโลยีจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองรับ "เมกะเทรนด์" ที่เกิดขึ้น

 

นายเคเค ชอง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การสื่อสาร และการพัฒนาความยั่งยืน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวใน งานสัมมนา Thaland Challenge:ความท้าทายประเทศไทย จัดโดยฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และสื่อเครือเนชั่น ณ  โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ วันที่ 20 ก.ย.2566 ในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน ไทยปรับ”  (Adjusting to a Transforming Landscape) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทาย ดังจะเห็นได้ว่าภูมิทัศน์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป การเผชิญหน้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดการแบ่งขั้วชัดเจนด้านซัพพลายเชนโลก ดังที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ขณะเดียวกัน การที่ประชาคมโลกมีมติร่วมกันในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate chane) ก็ได้ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตในฐานะผู้(ถลุง)ใช้ทรัพยากรโลก ต้องเผชิญกับมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงภายใต้สหประชาชาติ) เช่นมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป (อียู) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เป็นต้น

นายเคเค ชอง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การสื่อสาร และการพัฒนาความยั่งยืน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

นั่นหมายความว่า อียูกำลังจะนำภาษีคาร์บอนมาใช้ โดยการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในตลาดอียู แต่พร้อมๆ กับความท้าทายเหล่านี้ ก็มีโอกาสทางธุรกิจตามมาด้วยเช่นกัน

โดยกรณีของการแบ่งขั้นซัพพลายเชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นขั้วจีนซึ่งมีโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) หรือขั้วสหรัฐที่มีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ต่างก็มีความริเริ่มที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศที่เป็นพันธมิตร นอกจากนี้ ไทยเองยังเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทผู้ลงทุนต่างชาติในการที่จะโยกย้ายเข้ามาตั้งฐานการผลิตเมื่อแหล่งผลิตในประเทศอื่นๆ มีต้นทุนสูงขึ้นหรือไม่ได้สร้างความได้เปรียบอีกต่อไป (reshoring destination)

โลกเปลี่ยน ไทยปรับ

“ส่วนกรณีของ CBAM ก็เป็นที่แน่นอนชัดว่า ผู้ที่ปรับตัวให้เข้ากับบรรดามาตรการที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG)ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ก็จะได้สิทธิประโยชน์ในการส่งสินค้าเข้าตลาดอียูเหนือบริษัทที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” ผู้บริหารของเดลต้า เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเพาเวอร์ซัพพลายและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงธุรกิจพลังงานทดแทน และอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กล่าวว่า การขยับตัวเองขึ้นไปสู่ระดับบน หรือยกระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) นั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการฝ่าความท้าทายต่างๆที่กล่าวมา

“การปรับตัวด้วยการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คือกุญแจความสำเร็จที่ทำให้เราเติบโตได้ถึง 104% แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิดคือช่วงระหว่างปี 2019-2022 ทำรายได้ 3,300 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา และคว้ารางวัลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากมายหลายรางวัล รวมทั้ง Thailand Energy Award คือ เราไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาบุคลากร งานวิจัย และนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับ mega trends”

นายชองกล่าวว่า การผลิตแบบต้นทุนต่ำจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ นี่เป็นภาคส่วนที่ไร้แรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสูง และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะขาดศักยภาพในการพัฒนาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของตัวเอง และสินค้าที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ต้นทุนค่าแรงที่พุ่งขึ้น ยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นลาว เมียนมา (ในแง่อุตสาหกรรมต้นทุนต่ำ) อีกความท้าทายคือ ไทยยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในระยะยาว

“การยกระดับการผลิต ปรับตัวสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า  ตามที่ไทยได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์อย่างมาก ประการแรก คือ ไทยจะมีรายได้เฉลี่ยประชากร (GDP per capita) เพิ่มขึ้นจากต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบการผลิตที่ลงทุนไป ได้สร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น พึ่งพาตัวเองได้ และมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายต่างๆในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น ไทยก็จะมีแรงดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นด้วย” 

สำหรับเดลต้าฯนั้น มีการลงทุนด้าน R&D ในไทยมายาวนานมากกว่าสองทศวรรษแล้ว เรียกว่าตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งเลยก็ว่าได้ ในแง่การพัฒนาบุคลากร บริษัทยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ-บ่มเพาะบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการให้ทุนการศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆในด้านวิศวกรรม เนื่องจากมองว่า การขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิศวกรรมยังเป็นปัญหาใหญ่ของไทย และจะเป็นอุปสรรคต่อแผนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0

เขายังฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า ไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยผ่านวิกฤตหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง นักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่าไทยคงย่ำแย่และใช้เวลาฟื้นตัวหลายปี แต่ไทยก็สร้างเซอร์ไพรส์เสมอๆ ด้วยการฟื้นตัวจากวิกฤตเหล่านั้นด้วยการแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ เขายังอยากเห็นคนไทยซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถ เปิดตัวเปิดใจก้าวออกไปสู่โลกกว้าง มีวิสัยทัศน์ระดับโลกมากขึ้น และออกไปแสดงความสามารถให้โลกได้รับรู้