ผ่าแผนจัดสรรงบประมาณ 2567 ด้านความมั่นคง บ้านเมืองต้องสงบ-คนอยู่ดีกินดี

19 ก.ย. 2566 | 00:12 น.

เปิดรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณ 2567 หลังครม.เคาะเรียบร้อย ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท เช็คข้อมูลด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงประเทศ เรื่องเร่งด่วนบ้านเมืองต้องสงบ-คนอยู่ดีกินดี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ไม่น่านมานี้มีประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับงบประมาณ หลังที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ พร้อมแนวทางการจัดทำงบประมาณ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.48 ล้านล้านบาท

เรื่องหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ สำนักงบประมาณ ได้กำหนดรายละเอียดของการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีหลักการและกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้สอดคล้องกับแผนต่าง ๆ ดังนี้

  • แผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) 
  • แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566-2580) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) 
  • นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) 
  • นโยบายรัฐบาล 

โดยมุ่งให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุ 13 หมุดหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และประเด็นสำคัญของ 17 นโยบายและแผนความมั่นคง ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบที่รุนแรง

ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาตามแผนย่อยของแผนแม่บทฯ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) จำนวน 85 ประเด็น ประเด็นความมั่นคงภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

ภาพประกอบข่าว งบประมาณ 2567

โดยภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  • ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 
  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 
  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
  • ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 
  • รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

 

ภาพประกอบข่าว งบประมาณ 2567

ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญของการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ด้านหนึ่งที่มีความน่าสนใจ นั่นคือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายดังนี้

  • ประชาชนอยู่ดี กินดี และมีความสุขดีขึ้น บ้านเมืองมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับ
  • กองทัพ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง
  • ประเทศไทยมีบทบาทด้านความมั่นคงเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ
  • การบริหารจัดการความมั่นคงมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวชี้วัด

  • ความสุขของประชากรไทย
  • ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
  • ความพร้อมของกองทัพ หน่วยงานด้านความมั่นคง และการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง
  • บทบาทและการยอมรับในด้านความมั่นคงของไทยในประชาคมระหว่างประเทศ
  • ประสิทธิภาพการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม

 

ภาพประกอบข่าว งบประมาณ 2567 ความมั่นคง

 

ประเด็นยุทธศาสตร์ตามแผนย่อยของแผนแม่บท โดยการดำเนินการตามประเด็นเร่งด่วนภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง แบ่งเป็น

1. เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เสริมสร้างความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยและชาติไทย ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนในชาติอย่างสันติ และเคารพในความแตกต่างหลากหลายบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน 

2. พัฒนาความรู้และการปรับตัวรับมือกับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติ สร้างระบบประกันภัยและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบเตือนภัย ระบบข้อมูล ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น

3. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในเด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงานและประชากรกลุ่มเสี่ยง กำหนดมาตรการปราบปรามจับกุมผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้ายาเสพติด เครือข่ายการค้ายาเสพติด สกัดกั้น การลักลอบลำเลียงยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ พัฒนาระบบการบำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติดอย่างเป็นระบบ

4. เสริมสร้างความปลอดภัยและขจัดเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ภาษาที่หลากหลาย

5. เสริมสร้างการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ และการกระทำผิดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถป้องกันตนเองจากการค้ามนุษย์

6. พัฒนาระบบป้องกันความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของประเทศที่สอดคล้องกับหลักสากล ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ พัฒนาการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย โดยยับยั้งแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ส่งเสริมความร่วมมือกระบวนการยุติธรรม ทางอาญาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

7. พัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศในการบริหารจัดการความมั่นคงและภัยธรรมชาติ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย สร้างจุดยืนในบริบทโลกใหม่ โดยรักษาสมดุลกับมิตรประเทศ สนับสนุนบทบาทประเทศไทยในการเป็นผู้นำกลุ่ม CLMVT 

บูรณาการ แนวทางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุกระดับ พัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน การสร้าง ฐานเศรษฐกิจในบริบทโลกใหม่ พัฒนากฎหมายและแนวปฏิบัติที่ยกระดับไทยสู่มาตรฐานระหว่างประเทศทุกด้าน ขับเคลื่อนนโยบายความเป็นเจ้าของอธิปไตยทางข้อมูลจากเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจจากคนไทย

การดำเนินการตามแผนแม่บท

เน้นการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาและเสริมสร้าง การเมืองในระบอบประชาธิปไตย การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ - ปลายน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แบบบูรณาการ การบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อเหตุ รุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การป้องกันและแก้ไขปัญหา ความมั่นคงทางไซเบอร์ 

การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และในพื้นที่ชายแดน การป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่เป้าหมายระดับตำบลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคง พัฒนาระบบ การเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบจัดการภัยพิบัติ การป้องกันอธิปไตยทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ 

บูรณาการกลไกการบริหารจัดการความมั่นคง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม สนับสนุนความร่วมมือทางการพัฒนาที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนา ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศ ส่งเสริมสถานะและบทบาทของประเทศไทย ในประชาคมโลก พร้อมทั้งการพัฒนาด้านการต่างประเทศให้มีเอกภาพและมีการบูรณาการจากทุกภาคส่วน