จี้ปิดจุดอ่อน เงินดิจิทัล 10,000 ห่วงใช้ผิดทาง ศก.ไม่หมุนอย่างที่คิด

16 ก.ย. 2566 | 08:38 น.

รัฐบาล “เศรษฐา 1”เดินหน้าเร่งเครื่องขับเคลื่อนประเทศไทย ประเดิมลดแลก แจก แถม ทั้งลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน เตรียมปรับลดราคาก๊าซหุงต้ม เอาฤกษ์เอาชัยซื้อใจประชาชน ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานกระตุ้นการท่องเที่ยว และเตรียมพักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็ก

อีกนโยบายที่ประชาชนทั่วประเทศรอคอยคือ การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาดคาดประชาชน 56 ล้านคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้เงินใส่ในกระเป๋าคนละ 10,000 บาทในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  เงินดิจิทัล 10,000 บาท รวมกว่า 560,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลประกาศจะใส่ไปในกระเป๋าของประชาชนที่หวังจะเป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง จะมีพลังพอในการตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ถึง 5% ในปีหน้า(ขยายตัวมากสุดรอบกว่า 10 ปี) หรือไม่ เรื่องนี้ยังตอบได้ยาก เพราะเพียงลำพังเงินดิจิทัลที่จะใส่ลงไปคงไม่มีพลังพอที่จะทำให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยขยายตัวได้ถึง 5%

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“โดยลำพังเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน หลายคนคำนวณดูคาดจะสามารถขยับจีดีพีได้อย่างน้อย 2% ส่วนอีก 3% ก็ขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์อื่น ๆ โดยเครื่องยนต์หลัก ๆ เช่น ปีหน้านักท่องเที่ยวจะเข้ามาเพิ่มขึ้นมากกว่าปีนี้หรือไม่ อาทิ ปีนี้  30 ล้านคน ปีหน้าเพิ่มเป็น 35-40 ล้านคน ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่รัฐบาลต้องไปวางแผนว่าจะทำอย่างไร”

เรื่องที่สอง ภาคการส่งออก ที่เวลานี้ตัวเลขยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 (ต.ค. 65-ก.ค.66)  ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ล่าสุด ณ เดือนก.ย. 2566 ได้ปรับลดคาดการส่งออกปี 2566 ลงเหลือ -2.0% ถึง -0.5% ซึ่งภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนคงต้องทำงานหนักในการเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังมีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง กลุ่มเอเชียกลาง เช่น รัสเซียและซีไอเอส ลาตินอเมริกา แอฟริกา เป็นต้น หากสามารถเจาะตลาดใหม่ได้มากขึ้น และหากเศรษฐกิจโลกปีหน้าฟื้นตัว ตลาดเก่าเริ่มฟื้นขึ้นมาบ้าง เช่น จีน สหรัฐ สหภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น ก็จะทำให้การส่งออกไทยพลิกกลับมาเป็นบวก หรือฟื้นตัวดีขึ้นได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องงบประมาณภาครัฐ ที่หากเริ่มเบิกจ่ายได้ดีขึ้น และรัฐบาลสามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน รวมถึงคนไทยเกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น ในปีหน้า เครื่องยนต์เศรษฐกิจต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อรวมกับเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ที่คาดจะทำให้เศรษฐกิจหมุนได้หลายรอบ หากทุกอย่างเป็นไปตามคาดการณ์ก็มีโอกาสที่จีดีพีไทยในปี 2567จะขยายตัวได้ที่ 5%

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายนอกและภายในที่เกี่ยวเนื่องที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฉพาะอย่างยิ่งภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงานของโลก ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ของหลายประเทศ ที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก

“อย่างไรก็ดีภาคเอกชนขอขอบคุณรัฐบาลที่ประกาศจะปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วยเริ่มในรอบบิลเดือนกันยายนนี้ ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่ภาคเอกชนได้ร้องขอไว้ (ที่ 4.25 บาทต่อหน่วย) จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทยให้ดีขึ้น ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและตอบรับภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็ว”

ส่วนที่รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ (พิพัฒน์  รัชกิจประการ)มีนโยบายปรับขึ้นค่าแรง ภาคเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกของไตรภาคีในการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยขอให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทภายในปี 2570 (แต่ที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาใช้คำว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม) แต่ว่าตอนนี้ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างโดยทันที คงต้องเสริมความแข็งแกร่ง และกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหลายได้ฟื้นตัว ทั้งการเพิ่มสภาพคล่อง และหามาตรการช่วยเหลือเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร ได้แสดงความเห็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลนับจากนี้ว่า ห่วงว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่  เพราะรัฐบาลมาจากพรรคร่วมถึง 11 พรรคการเมือง โดยเฉพาะกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยฯที่กำกับดูแลแต่ละกระทรวงก็มาจากต่างพรรค นโยบายแต่ละพรรค สไตล์การทำงาน วัฒนธรรม วิธีคิด และแนวทางของแต่ละพรรคก็แตกต่างกัน ขณะที่เรื่องการบริหารจัดการ การกำหนดแผนงาน ทิศทางการดำเนินงาน และแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลที่ได้หาเสียง และแถลงไว้ต่อรัฐสภาจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

“ก่อนหน้านี้มีหลายหน่วยงาน พยายามรวบรวมว่ามูลค่าของนโยบายที่ได้หาเสียงของพรรคเพื่อไทยถ้าใช้หมด ตามงบประมาณต้องใช้ถึง 1.8 ล้านล้านบาท แต่วันนี้ก็ไม่มีพูดถึงตรงนี้ แต่ตอนนี้มีคำถามว่านโยบายเหล่านี้ต้องบริหารจัดการอย่าให้มีภาระทางการคลัง หรือทำให้เกิดหนี้สินเพิ่มเติมของประเทศได้อย่างไร”

ขณะที่ประสิทธิภาพของงบประมาณที่จะใช้โดยเฉพาะในเรื่องของดิจิทัล 10,000 บาท ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงจะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ดังนั้นรัฐบาลต้องไปออกแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ไม่อยากให้ซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จากนโยบายที่คล้ายกันของรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น บางคนนำไปใช้ชำระหนี้นอกระบบ ไปเล่นการพนันออนไลน์ ไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ไปผ่อนรถจักรยานยนต์ ฯลฯ ทำให้เงินไม่หมุนเวียนในระบบหลายรอบอย่างที่คิด