"ข้าราชการ" รุมต้านรัฐบาลจ่ายเงินเดือน 2 รอบ ห่วงชักหน้าไม่ถึงหลัง

14 ก.ย. 2566 | 04:26 น.

"ข้าราชการ" รุมต้านรัฐบาลจ่ายเงินเดือน 2 รอบ ห่วงชักหน้าไม่ถึงหลัง หลังค่าใช้จ่ายหลักส่วนใหญ่กระจุกตัวช่วงปลายเดือนกับต้นเดือน ชี้ก่อนเงินเดือนออกอีกรอบจะไม่พอต่อการดำรงชีพ

"เงินเดือนข้าราชการ" จะถูกปรับวิธีการจ่ายเป็น 2 รอบตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีคำสั่งปรับแผนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากเดิมที่จะได้เดือนละครั้ง โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ใน 1 มกราคม 2567 

ต่อเรื่องดังกล่าวแหล่งข่าวจากข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความเห็นเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือน 2 รอบกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าจะต้องไปดูที่ปัญหาของแต่ละคน เนื่องจากบางคนจะมีค่าใช้จ่ายช่วงปลายเดือนที่เป็นเงินก้อนใหญ่ เช่น ค่าผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ค่ารถ กลุ่มนี้น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะเงินก้อนจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงในข้อที่ว่าตามปกติคนส่วนใหญ่จะได้รับเงินเดือนเป็นก้อนเดียวช่วงปลายเดือน และนำเงินก้อนดังกล่าวนั้นมาบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วน เมื่อถูกแบ่งออกเป็น 2 ก้อนช่วงแรกก็คงจะเกิดปัญหาบ้าง สำหรับผู้ที่ม่ีค่าใช้จ่ายมากระจุกตัวช่วงปลายเดือนกับต้นเดือน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้วิธีการตัดบัญชีจากธนาคาร

ซึ่งบางคนจะทำในรูปแบบของการจ่ายค่าบ้าน ค่าประกัน ค่าสาธารณูปโภค โดยเมื่อเงินถูกแบ่งออกก็จะทำให้เงินที่เหลือใช้ช่วง 15 วันก่อนที่เงินเดือนจะออกอีก 1 รอบลดน้อยลง และจะมีปัญหากับการดำรงชีวิต

หากถามว่าเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ ต้องเรียนว่าหากเป็นไปตามปกติการใช้ชีวิตที่ผ่านมาคงจะไม่ใช่เรื่องที่ดีอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาทุกคนมีความคุ้นชินกับการดำเนินชีวิตที่มีเงินออกช่วงปลายเดือน เพื่อนำไปมาใช้จ่ายในหลากหลายด้าน ซึ่งทุกคนจะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องจ่ายอะไรบ้าง ซึ่งโดยหลักก็จะต้องจ่ายช่วงปลายเดือนกับต้นเดือน

"ข้าราชการ" รุมต้านรัฐบาลจ่ายเงินเดือน 2 รอบ

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเปลี่บนแปลงย่อมมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่หากจะเป็นรูปแบบของการทดลองใช้ระยะหนึ่งก่อนประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี หรือจะเป็นแค่ส่วนงานหนึ่งก่อนก็น่าจะดีกว่า

"ส่วนตัวเองไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะค่าใช้จ่ายมีการแบ่งเอาไว้เรียบร้อยแล้วในแต่ละเดือนแบบตายตัว" 

ข้าราชการอีกรายหนึ่ง ระบุชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้ชำระช่วงปลายเดือนทั้งค่าบ้าน ค่ารถ หากเงินถูกแบ่งออกเป้น 2 ก้อน ช่วงที่เหลือก่อนที่เงินจะออกอีก 1 งวดจะทำอย่างไร เกิดปัญหาแน่นอน

"โดยส่วนตัวไม่เกิดปัญหา เพราะทำงานมานาน มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือข้าราชการที่เพิ่งเริ่มทำงาน และเริ่มมีการผูกหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายปลายเดือน หรือต้นเดือน หลังจากนั้นเงินก็จะไม่พอใช้"

อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลควรไตร่ตรองเรื่องดังกล่าวอย่างรอบครอบ ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการ เพราะเงินเดือนเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของประชาชน 

สอดคล้องกับความคิดเห็นของข้าราชการระดับสูงรายหนึ่ง กล่าวว่า เท่าที่สอบถามความคิดเห็นกับข้าราชการที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินเดือน 2 รอบ เนื่องจากเงินเดือนส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายช่วงปลายเดือน หลังจากนั้นที่เหลือก็จะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการดำรงชีพ

"หากรัฐบาลต้องการทำจริง ควรที่จะต้องคุยกับสถาบันการเงินให้ด้วย เพื่อให้แบ่งงวดชำระค่าบ้าน ค่ารถออกเป็น 2 งวดเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นหากถูกหักชำระหนี้ไปแล้วช่วงก่อนเงินเดือนออกอีกรอบจะอยู่อย่างไร"

ข้าราชการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า การจ่ายเงินเดือน 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งคงไม่มีความแตกต่างกัน เพราะทุกคนย่อมรู้อยู่แล้วว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่าย หรือหนี้อะไรที่ต้องจ่ายบ้าง เพราะฉะนั้นหากถามว่าดีหรือไม่ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะบางกลุ่มที่มีค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นค่าใช้จ่ายช่วงกลางเดือน ก็จะได้ไม่ต้องเกิดความกังวลมาก

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นแนวคิดที่รัฐบาลจะดำเนินการ โดยในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าน่าจะมีช่วงระยะเวลาในการทดลอง เมื่อเห็นว่าใช้แล้วเกิดผลกระทบในทางที่ไม่ดีมากกว่าก็อาจจะยกเลิก แต่หากผลตอบรับไปในทิศทางที่ดีก็ทำต่อไป

ส่วนคำถามที่ว่าเห็นด้วย หรือไม่ คงต้องบอกว่าไม่ได้ติดขัดอะไรกับนโยบายดังกล่าว สามารถทดลองใช้ได้ ซึ่งเหมือนกับนโยบายอื่นที่มีทดลองใช้ก่อน เพื่อดูประสิทธิผล

"ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ทำงานโรงงาน เหตุผลที่ต้องแบ่งเงินเดือนออกเป็น 2 งวด เพราะคนงานเงินเดือนไม่มาก แต่มีรายจ่ายที่ต้องใช้จ่ายหลายอย่าง หากไม่แบ่งจ่ายก็จะไม่มีเงิน"

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับความจริงด้วยว่าการใช้จ่ายต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เดิมทีได้เงินเป็นก้อนใหญ่ ก็จะมีการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งสำหรับค่าใช้จ่ายช่วงกลางเดือน เมื่อมีการแบ่งจ่ายก็น่าจะทำให้ไม่ต้องเกิดความกังวล