ม.ราชภัฏ ทั่วไทยสอยงานวิจัยปั้นชาวบ้านทุกตำบลเป็น “นวัตกรชุมชน”

10 ก.ย. 2566 | 05:15 น.

บพท.ดึงเครือข่าย 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏ สอยงานวิจัยพร้อมใช้ลงมาช่วยปั้นให้ชาวบ้านทุกตำบลทั่วประเทศ ตำบลละ 5 คน ทั่วประเทศ 3.5 หมื่นคน เป็นนวัตกรชุมชน ดันงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการใช้งานในพื้นที่

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศรวม 38 แห่ง ผลักดันแนวทางการพัฒนานวัตกรรมพร้อมใช้ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 500 นวัตกรรม เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ และอาชีพที่มั่นคงให้กับชาวบ้าน

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่า การดึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศช่วยนำนวัตกรรมพร้อมใช้มาใช้งานจริงกับชุมชุนนั้น ปัจจุบันในระบบฐานข้อมูล App Tech Rajabhat มีนวัตกรรมพร้อมใช้อยู่แล้วประมาณ 500 นวัตกรรม และจะเพิ่มจำนวนเป็น 3,200 นวัตกรรม ภายในปี 2568 และคาดว่าจะมีครบอย่างน้อย 4,000 นวัตกรรม ภายในปี 2570 

ส่วนเป้าหมายในการเพิ่มนวัตกรชุมชนที่จะเป็นกลไกในการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศตั้งเป้าว่าในปี 2570 จะมี 35,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วจะมีนวัตกรชุมชนอยู่ในชุมชนไม่น้อยกว่าตำบลละ 5 คน ทั่วประเทศ

“อยากให้แกนนำชุมชน แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนเองด้วยตัวเองแล้วเกิดการพัฒนาเป็นนวัตกรชาวบ้าน โดยมีโค้ชคือมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีวิศวกรสังคมเป็นกลไกในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชนในพื้นที่ มีศูนย์การเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างเป็นระบบ คาดหวังว่าจะสามารถยกระดับการพัฒนาได้ทั่วประเทศก็จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง”

 

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ดันงานวิจัยพร้อมใช้ไม่ต้องเริ่มใหม่

ดร.กิตติ กล่าวว่า บพท.กำลังผลักดันทำให้งานวิจัย และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมซึ่งมีการพัฒนาในพื้นที่ และในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ได้รับการขยายผลให้เป็นประโยชน์และช่วยให้เกิดการพัฒนาในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นคานงัดและจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงในการพัฒนาประเทศที่มีความยั่งยืน 

ทั้งนี้ในขั้นต่อไปเมื่อมีการรวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้เอาไว้ในฐานข้อมูลกลาง ที่ชุมชนสามารถเข้ามาใช้ค้นหาข้อมูลได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำวิจัยใหม่ทุกครั้ง แต่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้เลย เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่เจอปัญหาจากการทำงานสามารถที่สะท้อนปัญหามายังมหาวิทยาลัยในพื้นที่ได้ทันที 

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ก็จะเข้าไปให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ในลักษณะการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือ หรือในบางครั้งอาจเป็นการให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินทุน การพัฒนาชุมชนจะรวดเร็วขึ้นสามารถขยายผลไปได้มากขึ้น

“ระบบฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่และช่วยลดความซ้ำซ้อนการสนับสนุนทุนวิจัยได้ และความยั่งยืนของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลจำเป็นต้องมีการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อให้เกิดการใช้ระบบฐานข้อมูล App Tech Rajabhat มาขยายผลและยกระดับผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรชุมชนทั่วประเทศ” 

ส่วนในระยะต่อไป เมื่อมีความพร้อมของระบบข้อมูล ชุดความรู้ บพท.มีแผนที่จะทำงานขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม เช่น สสส. พอช. เป็นต้น ในการตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศ โดยจับคู่ให้ระบบไปเจอกับผู้ใช้ในระดับภูมิภาคอย่างน้อย 4 ภูมิภาค โดยมี App Tech เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนนการทำงานของวัตกรชุมชน ที่มีความพร้อมในการรับปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หนุนเสริมให้เกิด Quick Win ในการพัฒนาพื้นที่ 

 

การผลักดันนวัตกรรมพร้อมใช้ เพื่อช่วยเหลืแชุมชน

ราชภัฏ พร้อมดึงนักวิชาการช่วยชุมชน

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมีเครือข่ายทั่วประเทศรวม 38 แห่ง มีบุคลากรทางวิชาการกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งพร้อมทำงานเชิงพื้นที่ และการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น 

โดยจำเป็นต้องใช้การบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ จึงได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต้นแบบที่ ชื่อว่า App Tech Rajabhat  ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้น โดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 24 แห่งทั่วประเทศ มีการนำเข้าข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้แล้วกว่า 500 นวัตกรรม

“App Tech Rajabhat จะเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนให้การทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น คล่องตัวมากขึ้น โดยรวบรวมเอาฐานข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้ของเครือข่ายราชภัฏไว้ด้วยกัน เพื่อการเรียนรู้ ถ่ายทอดขยายผล และนำไปประยุกต์ใช้พื้นที่ต่างๆ นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภายในเครือข่ายราชภัฏแล้ว ยังสามารถสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันในการจัดการพัฒนาท้องถิ่นข้ามหน่วยงาน จังหวัด ภูมิภาค ได้อีกด้วย”